กะเทาะเปลือกแนวคิด “การเรียนรู้ตามอัธยาศัย”

คนทำงานได้ความรู้จากห้องพักทานกาแฟมากเสียยิ่งกว่าที่ได้ในห้องเรียน เพราะในชีวิตการทำงานของคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุย การสังเกต การลองผิดลองถูก และทำงานร่วมกับคนที่เป็นผู้รู้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีสอนในห้องเรียน เนื่องจากความรู้จากการศึกษาในระบบคิดเป็นเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่นำมาใช้ในการทำงานจริง เวลา 1 นาทีของโลกทุกวันนี้มีสิ่งเกิดขึ้นมากมายยิ่งกว่าเวลา 1 ชั่วโมงในยุคปู่ย่าตายาย ไม่ใช่แค่ปริมาณกิจกรรมที่เกิดขึ้นมากมายทุกนาที แต่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งอีกด้วย เป็นเหตุให้ผู้คนคาดการณ์อนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนได้ยาก วิธีการเรียนรู้หรือการฝึกฝนอบรมพนักงานลูกจ้างแบบเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

การเรียนรู้ 2 วิถี : ขึ้นรถประจำทาง หรือ ขี่จักรยานไปเอง

การเรียนรู้ตามอัธยาศัยคือวิธีเรียนรู้ในการทำงานโดยที่ไม่ต้องใช้ระเบียบเคร่งครัด ไม่ต้องเตรียมการ และไม่ต้องมีตารางเวลา การเรียนรู้แบบทางการนั้นก็เหมือนกับการขึ้นรถโดยสารประจำทาง คนขับเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ผู้โดยสารเพียงแค่นั่งไปตามทาง แต่การเรียนรู้ตามอัธยาศัยเหมือนกับการขี่จักรยาน คนขี่จะเป็นผู้เลือกที่หมาย ความเร็ว และเส้นทาง ผู้ขี่สามารถใช้เวลาชื่นชมทัศนียภาพระหว่างทางได้ตลอด หรืออาจจะแวะเข้าห้องน้ำเมื่อไรก็ได้

การเรียนรู้คือการปรับตัว การเรียนรู้ทั้งหลายเป็นส่วนประกอบของการเรียนรู้แบบทางการและไม่เป็นทางการ สาระสำคัญก็คือสัดส่วนระหว่างความเป็นทางการและไม่เป็นทางการนั่นเอง

นักบริหารไม่ต้องการเรียนรู้ แต่ต้องการลงมือปฏิบัติ พวกเขาต้องการทำงานให้เสร็จ ต้องการผลงาน พวกเขาจึงมองการเรียนรู้ตามอัธยาศัยว่าเป็นกลยุทธสร้างกำไร และจึงมีบริษัทธุรกิจหลายแห่งประยุกต์การเรียนรู้แบบนี้มาใช้เพื่อ

  • เพิ่มยอดขาย โดยการทำให้ข้อมูลความรู้ของสินค้านั้นสืบค้นได้ง่าย
  • ปรับปรุงผลิตภาพของคนงานที่ใช้ความรู้
  • ปรับเปลี่ยนองค์กรจากที่ใกล้ล้มละลายไปสู่องค์กรที่เริ่มมีตัวเลขการทำกำไร
  • สร้างไอเดียสดใหม่และเพิ่มนวัตกรรม
  • ลดความเครียดและต้นทุนการดูแลรักษาสุขภาพ
  • ลงทุนในทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบได้มากที่สุด
  • เพิ่มความเป็นมืออาชีพและการเติบโตอย่างมืออาชีพ

คนงานความรู้ (knowledge worker) อยากจะรับผิดชอบงานด้วยตัวเองและคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม พวกเขาจะกระปรี้กระเปร่าขึ้นเมื่อสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะเลือกวิธีการอย่างไรในสิ่งที่ถูกมอบหมายให้ทำ

การฝึกอบรม : ชั้นเรียนอนุบาลสำหรับนักเรียนมัธยม

ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรมมักตำหนิผู้จัดการอาวุโสว่าไม่เข้าใจคุณค่าของการฝึกอบรม โครงการอบรมแบบทางการจำนวนมากจึงไม่ค่อยได้ผล นั่นอาจจะเป็นเพราะผู้บริหารไม่เข้าใจคุณค่าของการอบรมแบบทางการจริงๆ ก็เป็นได้ พวกเขาจึงมองว่ารูปแบบการอบรมอย่างที่เป็นอยู่ในไม่ค่อยคุ้มค่าหรือมีประโยชน์

แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บริษัทหลายแห่งมักจะประเมินกิจกรรมที่จัดขึ้นผิดพลาด ด้วยการไปประเมินผลที่ตัวผลผลิตเชิงปริมาณ ขณะที่ผู้ทำหน้าที่ฝึกอบรมจะประเมินที่ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงความสามารถในการผ่านบททดสอบต่างๆ และกิจกรรมเชิงสาธิต แต่กลับไม่มีใครสนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกิจกรรมฝึกอบรม

การฝึกอบรมนั้นเป็นอะไรที่เหมือนกับมีใครสักคนมาคอยกำกับบงการ แต่การเรียนรู้เป็นอะไรบางอย่างที่เราเลือกที่จะทำเอง โดยไม่สนใจว่าจะถูกฝึกฝนหรือไม่ เพราะเราเป็นคนกำกับควบคุมเอง คนงานความรู้จำนวนมากจึงมักบอกว่า “ฉันรักที่จะเรียนรู้ แต่ฉันเกลียดการฝึกอบรม”

คนทำงานไม่ชอบการอบรม เพราะการอบรมมักจะตั้งอยู่บนสมมติฐานแง่ลบว่าผู้เข้าอบรมมีข้อบกพร่อง และการอบรมจะเข้ามาช่วยรักษาข้อบกพร่องนั้น ขณะที่แผนกฝึกอบรมของหลายองค์กรก็ใช้เวลาและพลังงานเกือบทั้งหมดไปกับเตรียมการอบรมที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ นั่นเหมือนกับการเตรียมชั้นเรียนของเด็กอนุบาลให้กับนักเรียนระดับมัธยม เพราะในความเป็นจริง ยิ่งผู้เข้าฝึกอบรมมีวุฒิภาวะมากเท่าไหร่หรือเป็นผู้มีผลงานดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมขั้นพื้นๆ เช่นนี้อีก เนื่องจากรังแต่จะทำให้รู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองเสียมากกว่า

เสรีภาพในการคิด อิสรภาพในการกำกับควบคุมตนเอง

การเรียนรู้แบบทางการมักจัดขึ้นในห้องเรียน แต่การเรียนรู้ตามอัธยาศัยนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งที่บ้านหรือในสถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้การเรียนรู้ไม่มีขอบเขต และไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาคอยบริหารจัดการการเรียนรู้ นั่นเป็นความรับผิดชอบของคนทำงานเอง สิ่งซึ่งผู้บริหารควรจะทำก็คือการทำให้การเรียนรู้แบบนี้สร้างผลลัพธ์ที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรต่างหาก

การทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดหมายถึงการขจัดอุปสรรคทั้งหลาย ด้วยการสนับสนุนให้เกิดกลุ่มคนเล็กๆ เป็นกลุ่มริเริ่มหลายๆ กลุ่ม แล้วขยายปริมาณภายในกลุ่ม คอยกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่จำเป็นต้องคุยกันในเรื่องที่เป็นทางการ บ่อยครั้งทีเดียวที่สัญชาตญาณหรือความรู้สึกมีประสิทธิผลยิ่งกว่าตรรกะเหตุผล เพราะมันเรียกเอาปัญญาและความฉลาดทั้งมวลของคนๆ นั้นออกมาใช้ มันเป็นรูปแบบและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากพลังของจิตใต้สำนึกในการจำแนกแยกแยะผ่านประสบการณ์ที่ถูกถอดเป็นความหมาย แล้วนำมาตีความเพื่อตัดสินใจในขณะที่เกิดสถานการณ์ฉับพลันหนึ่งๆ

อินเทอร์เน็ตสามารถสร้างการเรียนรู้ภายในองค์กรและสร้างสภาพแวดล้อมสารสนเทศได้ดี เพราะมีเครื่องมือทั้งบลอก วิกิ เว็บ 2.0 เสิร์ช พอดคาสต์ แมชอัพส์ แพลตฟอร์มเหล่านี้มีอยู่แล้ว เหลือเพียงแค่ทำให้ทุกคนรู้จักการใช้งานเท่านั้นเอง และเมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว สิ่งสำคัญก็คือการลงมือกระทำในสิ่งที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้

การเรียนรู้ตามอัธยาศัยอาจนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารการประชุม จากเดิมที่การประชุม (ทางธุรกิจ) เคยเป็นสิ่งที่จืดชืดอืดอาดไร้ชีวิตชีวา แต่มุมมองใหม่ของการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจะเปลี่ยนให้การประชุมเป็นเรื่องน่าสนุก ใช้เวลาสั้นๆ และมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมก่อนและหลังให้เป็นรูปแบบตายตัว แต่ทำให้การประชุมคือพื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เป็นความสำเร็จหรือสิ่งที่ลงมือทำแล้วได้ผลดี และเป็นที่ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม ตัวอย่างการประชุมของ BAR Camp ที่นั่นจะไม่มีพาวเวอร์พอยท์นำเสนอ ไม่มีโพเดียม ไม่มีใครเหนือกว่าหรือดีกว่าใคร ไม่มีหัวโต๊ะ ไม่มีป้ายบอกชื่อหรือตำแหน่ง นั่งคุยล้อมวงเป็นวงกลม ทุกคนเท่าเทียมกัน ร่วมกันคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ไม่มีใครเป็นหัวหน้าเพราะทุกคนต่างก็มีความรับผิดชอบรู้จักดูแลสั่งการตัวเอง

เรียนรู้จากภาพ เรียนรู้จากการพูดคุย

กล่าวกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้สายตามองภาพ เราเรียนรู้สองครั้งด้วยภาพและคำในทันทีที่อ่านคำเพียงอย่างเดียว ภาษาภาพเกี่ยวข้องกับสมองทั้งสองซีก รูปภาพสามารถแปลความได้ข้ามวัฒนธรรม ข้ามระดับการศึกษา และข้ามกลุ่มอายุ แต่ทว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของการเรียนรู้ในองค์กรยังคงเป็นตัวอักษร โรงเรียนใช้เวลาหลายปีไปกับการสอนให้รู้คำและอักษร แต่ใช้เวลาเพียงไม่มีชั่วโมงกับการสอนให้รู้เรื่องและเข้าใจภาพ

ตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ด้วยภาพคือการแปลงข้อมูลตัวเลขหรือตัวอักษรให้เป็นกราฟิก เราสามารถปรับปรุงการเรียนรู้ตามอัธยาศัยภายในองค์กรได้โดยใช้ภาพกราฟิก มันทำงานได้อย่างมหัศจรรย์เมื่อเราต้องการที่จะ

  • ทำความเข้าใจให้ลึกยิ่งขึ้นในเรื่องราวที่มีความซับซ้อน
  • แบ่งปันการประชุมที่มีข้อสรุปไม่ตายตัวให้กับผู้อื่น
  • ช่วยให้ทีมงานมองเห็นภาพใหญ่และเพ่งความสนใจเฉพาะจุด
  • ปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจ

นอกจากการเรียนรู้ด้วยภาพ การสนทนาพูดคุยก็เป็นได้ทั้งการสร้างสรรค์และส่งผ่านความรู้ การสนทนาแบบเปิดที่ทำบ่อยๆ จะเพิ่มนวัตกรรมและการเรียนรู้ ระบบโรงเรียนปลูกฝังความเข้าใจผิดๆ กับเราว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงคือสิ่งที่เราทำด้วยตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้วเราเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคนอื่นต่างหาก ผู้คนมีนิสัยชอบพูดคุยอยู่แล้ว ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยการสนทนาพูดคุยกันจะนำมาสู่การแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิดความเห็น ซึ่งมีทั้งความตื่นเต้น สนุก และเกิดความรู้ใหม่ได้ง่าย

คนเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงานหรือที่บ้าน การทำงานคือการเรียกร้อง กดดัน แข่งขัน เหมือนหนูที่วิ่งแข่งอยู่ในเขาวงกต เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา บ้านคือความสุขสบาย เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับแบ่งปันเวลาให้กับครอบครัวและความสนใจส่วนบุคคล ส่วน “สภากาแฟ” ไม่ใช่ทั้งที่ทำงานหรือบ้าน แต่เป็นพื้นที่กลางให้ผู้คนมาร่วมดูแลกันและกัน สนุกกับมิตรภาพ เปิดรับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และสนทนาพูดคุยกันในเรื่องที่มีความหมาย ดังนั้น ถ้าเราไม่ใช่ฤาษี การมีสังคมหมายถึงเราต้องเป็นสมาชิกของชุมชนนักปฏิบัติหลากหลายกลุ่มโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยมีความคิดเลยว่ากำลังสังกัดกลุ่มนั้นอยู่ก็ตาม

หลอมรวมการทำงานและการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

โดยทั่วไป การเรียนรู้แบบทางการนั้นจำเป็นต้องเรียกร้องทัศนคติในเชิงยอมรับหรือยอมจำนน แต่การเรียนรู้ตามอัธยาศัยนั้นไม่มีขอบเขต มันทำให้เราค้นพบเสียงที่เข้ามาแทนที่ในความคิดอย่างต่อเนื่องตลอดว่าเราเป็นมนุษย์ เราต้องการข้องเกี่ยวอย่างเต็มที่กับสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตเรื่องราวภายนอกหรือความนึกคิดภายใน ให้ทั้งสองส่วนหลอมรวมกันจนเกิดปัญญาความรอบรู้และเข้าใจโลกมากขึ้น

เมื่อการทำงานและการเรียนรู้กลายมาเป็นหนึ่งเดียว การเรียนรู้ที่ดีและการทำงานที่ดีก็จะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น จงอย่าเริ่มต้นด้วยปัญหา การเริ่มต้นด้วยปัญหาจะนำพาเราไถลออกไปสู่เส้นทางที่ผิด ห่างไกลไปจากการเรียนรู้ แม้ว่าในที่สุดเราอาจจะแก้ไขปัญหานั้นได้ แต่มันก็ทำให้เราพลาดโอกาสอันน่าอัศจรรย์ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตเพราะมัวไปสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เปล่าประโยชน์

แปลและเรียบเรียงจาก Informal Learning in a Nutshell เขียนโดย Jay Cross เว็บไซต์ http://www.hrexaminer.com/informal-learning-in-a-nutshell/

และเว็บไซต์ https://www.tkpark.or.th

แหล่งภาพ
http://www.informl.com/
http://www.nuffieldfoundation.org