วิธีจดโน้ตเลคเชอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

การจดโน้ตหรือจดเลคเชอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนในทุกยุคทุกสมัย แต่ถึงอย่างนั้นบางครั้งโน๊ตที่จดมาก็ดันมีน้ำไม่มีเนื้อซะอย่างนั้น หรือไม่บางครั้งก็อ่านแทบไม่รู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องเลย บทความนี้อ๋อเหรอผู้เข้าใจคนเรียนก็เลยรวบรวมเทคนิคการจดเลคเชอร์ที่จะทำให้คุณได้โน๊ตเลคเชอร์ที่สามารถเอาไปใช้อ่านเพื่อเตรียมสอบได้จริงๆ

1. อย่ามัวแต่จดทุกคำ

เป็นความจริงที่ว่าหลายๆคนชอบจดตามคำพูดทุกคำ แต่เราจะบอกว่าการจดตาามทุกคำพูดนั้นนอกจากที่จะเสี่ยงทำให้คุณจดไม่ทันแล้ว ยัทำให้คุณไม่ได้ฟังสิ่งที่อาจารย์สอนอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือ จดเฉพาะบางประโยคที่เป็นหัวใจสำคัญ หรือ คำที่อาจารย์เน้นเป็นพิเศษก็พอ เพราะพอคุณเห็นคำคีย์เวิร์ดคุณก็จะนึกเนื้อหาออกเหมือนกันเพราะมันไปกระตุ้นความทรงจำของคุณนั้นเอง

2. ใช้มือถือให้เป็นประโยค

หากคุณเป็นพวกจดช้า คุณอาจกันเหนียว กันพลาดด้วยการใช้มือถือบันทึกเสียงเอาไว้ แต่จงอย่าใช้การบันทึกเสียงเป็นข้ออ้างในการไม่ตั้งใจเรียน เพราะการบันทึกเสียงนั้นเป้นเพียงตัวช่วยในกรณีที่คุณอาจพลาดรายละเอียดบางอย่างไปขณะเรียนแค่นั้น

3. จงตั้งใจฟังก่อนจด

ถึงแม้คาบนั้นจะน่าเบื่อแค่ไหนก็ตาม ให้คุณกัดฟันจดเลคเชอร์ไป เพราะเลคเชอร์ที่ได้จากการสอนสดย่อมดีกว่าโน๊ตที่ได้จากการเรียนตามที่หลังผ่านสื่ออื่นๆ เวลาที่คุณเบื่อหรือเริ่มไม่มีสมาธิให้พยายามคิดว่ายิ่งคุณตั้งใจเท่าไหร่ เวลาที่ต้องใช้มานั่งเรียนตามที่หลังก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

4. ไฮไลท์ ตัวเล็ก-ตัวใหญ่ ขีดเส้นใต้

การทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ลงในโน๊ตเพื่อเน้นคำสำคัญหรือประโยคสำคัญที่อยู่ในโน๊ตเป็นการช่วยกระตุ้นความทรงจำที่ได้ผล ในขณะที่คุณนำโน๊ตกลับมาอ่านอีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการทำเข้าใจเนื้อหาหลักได้อีกด้วย

5. ใช้ตัวย่อหรือภาพ Visual สัญลักษณ์ต่างๆ

การจดเลคเชอร์คือเรื่องของความเร็ว เพราะอย่าลืมว่าเวลาที่คุณเขียนส่วนใหญ่คุณเขียนตามคำพูด ดังนั้นคำไหนใช้ตัวย่อหรือสัญลักษณ์ต่างๆได้ก็ควรใช้เพราะจะช่วยประหยัดเวลาในการเขียนทำให้จดเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น

6. กำจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิออกไปซะ

ต้นเหตุที่ทำให้จดเลคเชอร์ไม่รู้เรือง ขาดตอน หรือข้อมูลไม่เรียงลำดับ มาจากการที่คุณสมาธิหลุดเพราะถูกรบกวนสมาธิ สิ่งที่คุณควรทำคือกำจัดสิ่งรบกวนเหล่านั้นออกไป เช่น ปิดเสียงมือถือเพื่อไม่ให้วอกแวกเวลามีการแจ้งเตือนจากแอพฯ เป็นต้น

7. เว้นที่ว่างเอาไว้

หากมีช่วงไหนหรือจุดไหนของเลคเชอร์ที่คุณตามไม่ทัน งง หรือไม่เข้าใจ ให้คุณเว้นที่ว่างตรงช่วงนั้นเอาไว้ เพื่อมาเติมรายละเอียดในภายหลัง แทนที่จะมัวเสียเวลาหาคำตอบเดียวนั้นจนทำให้พลาดการจดเลคเชอร์ในส่วนอื่นๆ

8. พิมพ์เลคเชอร์เก็บไว้ทันทีหลังจากมีเวลาว่าง

หลังจากเลิกคลาสแล้วให้คุณอ่านทวนที่จดเลคเชอร์เอาไว้ทันทีเมื่อมีเวลาว่าง แล้วพิมพ์โน๊ตนั้นเก็บเอาไว้ เพราะการอ่านเลคเชอร์ขณะที่ความเข้าใจหรือความทรงจำในคาบเรียนนั้นยังสดใหม่จะทำให้เลคเชอร์ของคุณมีความสมบูรณ์ของเนื้อหามากยิ่งขึ้น และเลคเชอร์ที่พิมพ์เก็บไว้ก็ทำให้อ่านง่ายเวลากลับมาอ่านในภายหลังแถมยังถือเป็นการสำรองข้อมูลไปด้วยในตัว

9. แชร์เลคเชอร์กับเพื่อนร่วมคลาส

เพราะมันเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะจดทันทุกเรื่อง การแลกเลคเชอร์หรือแชร์เลคเชอร์กับเพื่อนร่วมคลาสจะทำให้คุณได้เนื้อหาในส่วนที่อาจจะจดไม่ทัน และอาจะเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นจากเลคเชอร์ของเพื่อนที่ถนัดวิชานี้มากกว่าหรือจดเนื้อหาใจความสำคัญมาครบกว่า

10. หาสไตล์การจดที่ใช่สำหรับคุณ

ไม่มีเทคนิคการจดเลคเชอร์ไหนที่จะเหมาะกับทุกคน คุณควรหาสไตล์การจดที่คุณถนัดและทำมันได้ดี เช่น คุณอาจะเป็นคนที่ถนัดการจดเลคเชอร์ด้วยการมีภาพวาดประกอบสอดแทรกในโน๊ต หรือ คุณอาจะเป็นคนที่ถนัดใช้อักษรย่อมากกว่าการเขียนสั้นๆ เป็นต้น ให้คุณหาวิธีที่เหมาะกับตัวเองจะดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.ohlor.com