เคล็ดลับอ่านหนังสือกองโตให้เร็วและจำแม่น

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์หรือกฎหมายถึงทนอ่านหนังสือเป็นกองตั้งๆได้อยู่ทุกสัปดาห์ อะไรคือความลับของพวกเขา? ที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือพวกเขาไม่อ่านเรียงจากหน้าแรกไปจนหน้าสุดท้ายตามลำดับ ว่าแต่พวกเขาจะจดจำข้อมูลที่เหลือได้อย่างไรถ้าไม่อ่านตามลำดับอย่างที่พวกเราคุ้นเคยกัน 8 เทคนิคต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับการอ่านหนังสือที่อาจช่วยให้คุณจัดการกับกองหนังสือที่ดูเหมือนต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะอ่านจบได้

1. อ่านบทสรุปก่อนเป็นอันดับแรก
นักเขียนจำนวนไม่น้อยมักจะเปิดบทแรกของหนังสือด้วยภาษาที่ยืดยาว เข้าใจยาก และต้องตีความกันหลายชั้น และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คน(ตั้งใจ)อ่านหลายคนตกหลุมพรางของความเหนื่อยหน่ายและเขวี้ยงหนังสือทิ้งไปด้วยความผิดหวัง ในเมื่อผู้อ่านเจอหลุมพรางอย่างกรณีนี้ละก็ เคล็ดลับคือ “กระโดดหลบหลุม” นี้เสีย เปิดไปที่บทสุดท้ายของหนังสือ และมองหาบทสรุป นักเขียนหนังสือที่ควรค่าเวลาอ่านของเราจะต้องรวบรวมข้อโต้แย้งหรือบทเรียนที่เรียบเรียงไว้อย่างครบครันในบทสรุป และส่วนใหญ่พวกเขาก็มักจะรวมตัวอย่างหรือหลักฐานที่พูดไปในบทต่างๆไว้อย่างย่อๆในหน้าท้ายๆอยู่แล้ว

2. ใช้ปากกาไฮไลท์
หนึ่งในข้อผิดพลาดที่นักอ่านจำนวนไม่น้อยทำก็คือเลิกใช้ปากกาไฮไลท์ในการอ่านหนังสือ ส่วนมากจะเป็นเพราะพวกเขาไฮไลท์เกือบทั้งหน้าจนสุดท้ายไม่รู้จะไฮไลท์ไปทำไม แต่ความจริงแล้วเทคนิคการไฮไลท์หนังสือถือเป็นอาวุธชั้นเลิศของนักอ่านตัวยงเลยทีเดียว นักอ่านเร็วและจำแม่นต่างรู้ดีว่าการไฮไลท์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้านั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะทำ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเว้นทีละ 50 หน้าถึงจะไฮไลท์ที นักอ่านชั้นเซียนจะพยายามมองหาประเด็นหลักที่คนเขียนต้องการจะสื่อและไฮไลท์เฉพาะข้อความนั้นๆ ถ้าเจอประเด็นหรือตัวอย่างที่ซ้ำก็จะข้ามไป เทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้อ่านคัดแยกแต่ประเด็นสำคัญของหนังสือให้โดดเด่นออกมาจากทั้งเล่ม เมื่อย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง พวกเขาจะสามารถสรุปใจความของหนังสือเล่มนั้นๆได้โดยใช้เวลาในการพลิกไปมาเพียงไม่กี่นาที

3. อ่านสารบัญและหัวข้อย่อยในแต่ละบท
เด็กที่เพิ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆ หลายคนมักจะประหลาดใจเมื่อได้พบความจริงที่ว่ารุ่นพี่เก่งๆ หรือแม้แต่อาจารย์หลายคนมักจะไม่อ่านหนังสือทั้งเล่ม แต่พวกเขาจะเริ่มจากการอ่านสารบัญและเลือกอ่านเฉพาะบทที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเขาก่อนเป็นอันดับแรก ในบางทีพวกเขาจะทำเพียงเปิดหนังสือผ่านๆ เร็วๆ ทั้งเล่มและหยุดอ่านเฉพาะเมื่อเห็นหัวข้อย่อยที่ดึงดูดพวกเขาเป็นพิเศษ เทคนิคนี้จะสร้างความรู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้อง”ทน”อ่าน เพราะพวกเขาอ่านในสิ่งที่พวกเขา”เลือก”เอง หลายคนมองว่าเคล็ดลับข้อนี้อาจทำให้พวกเขาต้องพลาดใจความสำคัญของผู้เขียนไปในบทที่ข้าม แต่ในความเป็นจริงแล้วนักเขียนงานวิชาการส่วนใหญ่มักจะย้ำใจความสำคัญที่สุดของเขาไว้ในทุกๆบทอยู่แล้ว

4. อย่าอ่านเชิงรับ แตให้อ่านแบบเชิงรุก
ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ที่รู้สึกเซ็งกับหนังสือที่ครูสั่งให้อ่าน เพราะมันทั้งน่าเบื่อและไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกเอง ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาในหนังสือทุกเล่มมีทั้งส่วนที่เราไม่สนใจเลย ไปจนถึงส่วนที่เราอาจเชื่อมโยงได้บ้าง เทคนิคคือการเริ่มจากส่วนที่เราพบว่าดึงดูดใจเรามากที่สุด (หรือเลวร้ายน้อยที่สุด) ก่อน การอ่านหนังสือไม่ต่างกับการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราไม่สามารถจะทนอยู่กับใครได้นานถ้าเรามองเห็นแต่จุดที่ย่ำแย่และรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นจงจำไว้เสมอว่าคุณมีอำนาจในการควบคุมความสัมพันธ์ของคุณกับหนังสือที่คุณอ่านเสมอ เริ่มจากวันนี้ มองหาจุดที่น่าสนใจของมันและไม่ปล่อยให้การอ่านเป็นเรื่องที่คุณรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ แต่เป็นสิ่งที่คุณเลือกเองและสามารถควบคุมมันได้อยู่มือ

5. ไม่อ่านทุกคำ
เคยสังเกตหรือไม่ว่าหลายครั้งที่เราอ่านหนังสือเรียนแบบเรียงคำตั้งแต่ต้นไปจนจบ เราจะพบว่าเนื้อหาในหนังสือดูพูดวนซ้ำประเด็นเดิมไปมา แน่นอนว่าการอ่านทุกคำจะทำให้เราเก็บครบทุกรายละเอียด แต่ในความเป็นจริงแล้วเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเชิงวิชาการมักจะถูกอัดแน่นไปด้วยหลักฐานที่สนับสนุนประเด็นหลักมากกว่าตัวประเด็นเอง จริงอยู่ว่าหลักฐานเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามไปได้อย่างสิ้นเชิง แต่เราจะเห็นว่าหลักฐานเหล่านี้มีไว้เพื่อสนับสนุนใจความหลักๆ อีกทีหนึ่ง ดังนั้นในกรณีที่คุณอยากซึมซับข้อมูลที่สำคัญในเวลาที่จำกัดแล้วล่ะก็ ควรหยุดอ่านทุกคำ แต่ให้เลือกอ่านเฉพาะแต่ประเด็นสำคัญเสียก่อน

 6. เขียนสรุป
การเขียนอาจเป็นยาขมสำหรับใครหลายคน แต่มันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้ในระยะเวลาสั้นๆ เคล็ดลับเด็ดในการจำหนังสือเล่มหนาๆ ได้ทั้งเล่มวิธีหนึ่งคือสรุปใจความทั้งหมดลงในกระดาษเอสี่หนึ่งแผ่น รวบรวมข้อโต้แย้งต่างๆ ของผู้เขียนไว้ในสองย่อหน้า รวมทั้งตัวอย่างสองสามตัวที่น่าสนใจ และที่สำคัญที่สุดคือให้เขียนสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยหรือสิ่งที่คุณคิดว่ามีแนวคิดอื่นที่ดีกว่าลงไป วิธีการนี้ให้ผลใกล้เคียงกับไฮไลท์ และจะดียิ่งกว่าถ้าคุณใช้ประกอบกัน เพราะเมื่อใกล้ถึงเวลาสอบ คุณจะสามารถสรุปเนื้อหาทั้งหมดได้ด้วยเพียงการทบทวนกระดาษหนึ่งหน้าที่คุณเขียนสรุปไว้

7. คุยกับคนอื่นถึงสิ่งที่คุณอ่าน
เด็กเก่งหลายคนมักจะมี “เพื่อนคู่คิดทางการเรียน” เอาไว้ถกเถียงในสิ่งที่พวกเขาอ่าน แม้แต่การพูดคุยล้อเลียนข้อเสนอที่หนังสือเน้นย้ำ หรือถกเถียงถึงความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่คนเขียนเลือกมาใช้สนับสนุนข้อโต้แย้งก็สามารถช่วยคุณในห้องสอบได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะเมื่อถึงเวลาสอบ การนึกถึงมุกตลกพวกนั้นอาจช่วยให้คุณจดจำประเด็นที่เคยโต้แย้งได้ดีขึ้น ผู้อ่านหลายคนเป็นคนประเภทที่เรียนรู้จากการฟัง คนกลุ่มนี้จะสามารถจดจำข้อมูลใหม่ๆได้ดีเมื่อได้ยินข้อมูลใหม่ๆ ดังนั้นถ้าคุณสามารถมองเห็นข้อมูลอย่างเข้าขั้นที่สามารถล้อเลียนได้แล้วล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าคุณสามารถเข้าใจในเรื่องนั้นได้ดีมากจนเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของมันได้แล้ว

8. จดโน้ตคำถามที่เกิดขึ้นในระหว่างอ่าน
อย่างที่กล่าวไปในข้อสี่ว่าจงพึงอ่านหนังสือในเชิงรุก เพราะการอ่านในเชิงรุกนั้นจะทำให้เรามองเห็นจุดที่น่าสนใจและจุดที่น่าเบื่อ ไปจนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของเนื้อหาในหนังสือได้ เมื่อใดที่คุณรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบางตอน การหยุดเพื่อตั้งคำถามกับใจความนั้นๆเป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้เราจำได้โดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญคืออย่าคิดเอาเองว่าคนเขียนจะถูกเสมอไป และนี่คือหัวใจที่ช่วยพัฒนาทักษะการคิดในเชิงวิพากษ์อันจะช่วยทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับการอ่านอยู่เสมอ คำถามยอดนิยมที่คุณอาจจะลองใช้ในการอ่านวันนี้อย่างเช่น ทำไมผู้เขียนถึงเลือกเจาะประเด็นนั้น? ตัวอย่างที่ยกมาสนับสนุนข้อโต้แย้งนี่สมเหตุสมผลหรือไม่? ผู้เขียนตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้โดยสื่อไปถึงผู้อ่านกลุ่มไหน? ข้อมูลในย่อหน้านั้นมีข้อสรุปที่แฝงไปด้วยอคติมากเกินไปหรือไม่? เป็นต้น

แหล่งข้อมูลและแหล่งภาพจาก

http://www.lifehack.org/articles/productivity/the-secrets-reading-faster-and-absorbing-information-better.html