10 TED Talks ที่ดีสำหรับนักการศึกษา

TED Talks คือแหล่งแรงบันดาลใจขนาดใหญ่สำหรับคนในวงการการศึกษาที่ต้องการขวัญกำลังใจ เชื้อไฟบทสนทนาที่สำคัญ และมุมมองอันสดใหม่ ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่มี Ted Talks ที่ดีที่สุดหลายบทสำหรับวงการ ข้อความและสารเหล่านี้มีคุณค่าอย่างมากสำหรับนักการศึกษาที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นในตัวนักเรียนของพวกเขา

          ภาวะอันตรายของความเงียบงัน (The Danger of Silence)
คลินท์ สมิธ กวีและคุณครูกระตุ้นให้ผู้ฟังทุกคนออกมาพูดแสดงจุดยืนต่อต้านภาวะอวิชชาและความอยุติธรรมในสังคม เขาเริ่มต้นสุนทรพจน์ของเขาด้วยคำกล่าวของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงจูเนียร์ที่ว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่พวกเราจะจดจำได้นั้นไม่ใช่คำพูดของศัตรูเรา หากแต่เป็นความเงียบงันของสหายเราต่างหาก” สมิธได้ยกคำกล่าวนี้ให้เป็นหลักสำคัญของห้องเรียนเขา นั่นคือ “จงพูดความจริง” นี่เป็น TED Talk ที่เราควรจะแชร์กับนักเรียนในห้องของเราเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าการนิ่งเฉยไม่พูดอะไรนั้นแท้จริงแล้วอันตรายกว่าที่เราคิด เสียงและความคิดเห็นของพวกเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญ
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=NiKtZgImdlY)

           ทำไมแม่ครัวอาหารกลางวันถึงเป็นฮีโร่ (Why Lunch Ladies are Heroes)
จาร์เรท โครซอคสกา นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ “แม่ครัวอาหารกลางวันของโรงเรียน” ในหนังสือของเขาและ TED Talk ในวันนั้น โดยชี้ให้เห็นว่าคนที่ทำงานในโรงอาหารนั้นมักจะไม่ได้รับความเคารพถึงแม้ว่างานที่พวกเขาทำก็คือการดูแลเอาใจใส่นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรายการเหตุการณ์ที่น่ากังวลในห้องอาหาร ไปจนถึงภาระในการเป็นผู้ให้อาหารเด็กๆในช่วงระหว่างฤดูร้อน โครซอคสกาเตือนผู้ที่ทำงานในโรงเรียนทุกคนว่าวิธีการหนึ่งที่จะบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งความกตัญญูและความเคารพในโรงเรียนนั้นต้องเริ่มมาจากการให้ความเคารพกลุ่มคนที่เรามักจะละเลยอย่างแม่ครัวในโรงอาหาร เพราะถ้าหากคุณเริ่มจากจุดนี้ได้ คุณจะสามารถสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกและงอกเงยในโรงเรียนของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=6ra1MIKlYB0)


           ลูกสาวของผม มาลาลา (My Daughter, Malala)
มาลาลา ยูซาฟไซถูกยิงเข้าที่ศีรษะโดยมือปืนตาลีบันในข้อหาที่เธอรณรงค์ให้เด็กผู้หญิงในปากีสถานได้รับการศึกษา วีรกรรมครั้งนั้นทำให้เธอกลายมาเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เด็กที่สุดในประวัติศาสตร์ ซีอะอุดิน ยูซาฟไซ พ่อของมาลาลาผู้เป็นครูเอง อธิบายว่าการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กผู้หญิงในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายมีตัวตนในสังคม ดังนั้นการศึกษาจึงไม่ต่างอะไรจากเครื่องมือในการปลดปล่อยอิสรภาพ เขาอธิบายถึงพลังของการต่อสู้ของมาลาลาและสารแห่งการติดปีกให้มาลาลามีเสรีภาพในชีวิต สุนทรพจน์ของเขาจับใจนักการศึกษาผู้เข้าใจว่าเด็กทุกคนสมควรที่จะได้รับความเท่าเทียมทางการศึกษา ยูซาฟไซได้ย้ำเตือนนักการศึกษาถึงคุณค่าของงานที่พวกเขาทำและสนับสนุนให้ทุกคนเห็นถึงพลังที่การศึกษาสามารถมอบให้กับชีวิตเด็กคนหนึ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญของโลกในอนาคตได้
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=h4mmeN8gv9o)

           จงยอมรับภาวะที่เกือบชนะ (Embrace the Near Win)
ซาราห์ ลิวอิส นักประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบายช่วงเวลาที่เธอรู้ว่าไม่ใช่งานศิลปะทุกชิ้นที่จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงอันทรงคุณค่าได้ เธอเชื่อมโยงว่าแท้จริงมันเป็นเรื่องของภาวะที่เกือบจะล้มเหลวหรือไม่ก็เกือบจะชนะในการจะประสบความสำเร็จและสร้างแรงบันดาลใจได้ ซาราห์อธิบายว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรามักจะกระตุ้นพวกเราได้ดีก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะที่เกือบจะชนะต่างหากที่จะพาเราไปได้ไกลกว่า ตัวอย่างเช่น คนที่ชนะเหรียญเงินมักจะมีแรงกระตุ้นในการแข่งขันครั้งต่อไปมากกว่านักกีฬาเหรียญทองแดง นี่เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญสำหรับคนในวงการการศึกษา ประการแรกคือ มันเตือนพวกเราว่านักเรียนของเราต้องการจะเห็นคุณค่าแม้กระทั่งในความล้มเหลวของพวกเขาเอง ประการที่สองคือ มันเตือนพวกเราให้เข้าใจว่าทำไมพวกเราจะต้องกระตุ้นให้เด็กๆตั้งเป้าหมายระยะสั้นสำหรับชีวิตพวกเขาเพื่อจะประสบความสำเร็จในเป้าใหญ่ได้ในท้ายที่สุด
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=IS_upr6ayqw)

            ความสำเร็จ ความล้มเหลว และแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์ต่อไป (Success, Failure, and the Drive to Keep Creating)
หลังจากถูกปฎิเสธถึง 6 ปีติดต่อกัน อลิซาเบ็ธ กิลเบิร์ธนักเขียนชื่อดังก็ได้รับความสำเร็จอย่างที่ตัวเธอเองไม่เคยจินตนาการมาก่อนกับหนังสือ “อิ่ม มนต์ รัก” (Eat Pray Love) อย่างไรก็ตามเธอกลับรู้สึกว่าเธอเกือบจะล้มเหลวไปเสียแล้วจริงๆ อลิซาเบ็ธอธิบายว่าความล้มเหลวและความสำเร็จมักจะเหวี่ยงเรากลับไปที่จุดเดิมในที่สุด และสัจธรรมของการทำสิ่งที่คุณรักมากที่สุดโดยที่ผลลัพธ์ของมันแทบจะไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณแค่ได้ทำมัน คุณครูทุกวันนี้ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์แรงๆมากกว่าที่เคยเป็นมา คำแนะนำของกิลเบิร์ธก็คือ พวกเราจะต้องสอนหนังสือต่อไปอย่างพากเพียร เพราะบ้านของครูอย่างเรานั้นอยู่ในห้องเรียน และนั่นก็หมายถึงการทำสิ่งที่พวกเรารัก
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=_waBFUg_oT8)

           จงสอนให้ครูรู้จักวิธีร่ายมนต์ (Teach Teachers how to Create Magic)
คริสโตเฟอร์ เอมดิน คุณครูผู้มากประสบการณ์ต้องการให้คุณครูเรียนรู้วิธีการสร้างเวทมนต์เพื่อดึงความสนใจของเด็กๆ แต่ก็ให้ความรู้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เขาชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรในการเตรียมคุณครูนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาดึงความสนใจนักศึกษาครุศาสตร์ แต่กลับคาดหวังให้บัณฑิตจบไปดึงความสนใจนักเรียน เอมดินรณรงค์สำหรับหลักสูตรในการฝึกคุณครูเพื่อที่จะเน้นย้ำความสำคัญของทักษะในการดึงความสนใจด้วยการให้นักศึกษาครูเดินทางไปทำกิจกรรมที่ดึงความสนใจผู้ชม ตั้งแต่การไปคอนเสิร์ตแรพ ไปจนถึงการสังเกตการทำงานของช่างตัดผม สุนทรพจน์ของคริสโตเฟอร์เองก็ดูเหมือนจะทำหน้าที่ในการเป็นตัวอย่างที่ดีของการดึงความสนใจของผู้ฟัง และแน่นอนว่าผู้ชมที่ทำงานในวงการการศึกษาที่ได้ฟัง Ted talks ของเขาก็สามารถที่จะนำเอาเทคนิคของเอมดินไปใช้ในห้องเรียนได้ทันที
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=H3ddtbeduoo)

            ความจำระยะสั้นช่วยให้คุณเข้าใจโลกได้อย่างไร (How Your Working Memory Makes Sense of the World)
สุนทรพจน์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและสาระแน่นปึ้กของนักจิตวิทยาการศึกษาอย่างปีเตอร์ ดูลิทเทิ้ลนี้อธิบายให้เราเห็นว่าความทรงจำระยะสั้นของเราที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นมีความสำคัญอย่างไร ความจำระยะสั้นทำให้เราสามารถจดจำประสบการณ์ในทันที ดึงข้อมูลจากความทรงจำระยะยาว และประมวลความรู้เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายในปัจจุบันได้ คนที่มีความจุความทรงจำระยะสั้นสูงมักจะเป็นนักเล่าเรื่องที่มีประสิทธิภาพ ทำข้อสอบวัดระดับได้คะแนนสูง และมีทักษะการเขียนและการใช้เหตุผลที่ดีเยี่ยม ในขณะที่ความจำระยะสั้นของเรามีศักยภาพจำกัด แต่คลิปการพูดครั้งนี้ทำให้นักการศึกษาเห็นว่า พวกเขาสามารถใช้กลยุทธในการช่วยให้นักเรียนรับข้อมูลและประมวลผลมันออกมาโดยการให้พวกเขาพูดและเขียนเกี่ยวกับการเรียนรู้และแบบฝึกหัดที่ต้องใช้จินตนาการและจัดการโครงสร้างความรู้ในรูปแบบที่มีระเบียบสูงได้อย่างมีระบบ
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=UWKvpFZJwcE)

           เด็กทุกคนต้องการแชมเปี้ยน (Every Kid Needs a Champion)
ริต้า เพียร์สัน คุณครูผู้มากประสบการณ์กว่า 4 ทศวรรษ เข้าใจถึงความสำคัญของบุคลากรในวงการการศึกษาผู้มีศรัทธาในตัวนักเรียนและเชื่อมโยงพวกเขาในระดับที่มีความเป็นส่วนตัวและมีความหมายในเชิงสาธารณะ ด้วยอารมณ์ขันและความหลงใหลในการศึกษา เพียร์สันมอบสุนทรพจน์จากใจว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูและลูกศิษย์ เธอกล่าวว่า เด็กๆจะไม่เรีียนรู้จากคนที่พวกเขาไม่ชอบ ริต้าเล่าถึงประสบการณ์ของเธอในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่ทำให้งานของเธอเป็นเสมือนรางวัลแห่งชีวิตและทำให้ความสำเร็จของนักเรียนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ TED Talks ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงนี้เป็นบทเรียนที่นักการศึกษาทุกคนไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะมันเตือนให้เราได้ระลึกถึงบทบาทที่สำคัญที่การกระทำของครูมีต่อชีวิตของเด็กๆ
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=SFnMTHhKdkw)

           หนทางเอาตัวรอดจากหุบเขาแห่งความตายของการศึกษา (How to Escape Education’s Death Valley)
เซอร์เคน โรบินสันเป็นที่รู้จักถึงสุนทรพจน์ที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน แต่ก็เต็มไปด้วยสาระทางการศึกษา ในสุนทรพจน์ชิ้นนี้ เขากล่าวถึงอัตราการลาออกของนักเรียนในสหรัฐอเมริกาที่น่าตกใจ และเน้นย้ำถึงสาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาทุกวันนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางสามหลักการที่สำคัญต่อสมองของมนุษย์ในอันที่จะงอกเงย โรบินสันอธิบายถึงระบบการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนรู้และการศึกษาที่ดี โดยเปรียบเทียบระบบในทุกวันนี้ว่าไม่ต่างจากหุบเขาแห่งความตายที่รอพวกเราทุกคนอยู่ข้างหน้า เขารณรงค์ให้เกิดการปฏิวัติระบบการศึกษาที่จะบ่มเพาะการเรียนการสอนที่แท้จริงซึ่งจะช่วยให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย ผู้ฟังจะชื่นชอบบทสนทนาที่แสนจริงใจของโรบินสันและได้ครุ่นคิดถึงวิธีการที่พวกเขาจะมีส่วนร่วมในการทำให้นักเรียนของพวกเขางอกงาม
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=wX78iKhInsc)

          “ความเพียร” เคล็ดลับของความสำเร็จ (The Key to Success? Grit)
แองเจล่า ลี ดักเวิร์ธลาออกจากงานที่ปรึกษาทางการจัดการเพื่อมาสอนคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนเกรด 7 ในโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก เธอได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้ว “ไอคิว” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่แยกเด็กที่ประสบความสำเร็จออกจากเด็กที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก หลังจากออกจากงานสอนเพื่อศึกษาต่อทางด้านจิตวิทยา ดักเวิร์ธทำการวิจัยนักเรียนจากหลายๆแหล่งรวมกันและพบว่าปัจจัยอย่าง “ความเพียร” ต่างหากที่เป็นตัวทำนายความสำเร็จของคนๆหนึ่งได้ ความเพียรหมายถึงภาวะความแข็งแกร่ง ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ และความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายระยะยาวที่เราวางไว้สำเร็จได้ สำหรับคนในวงการการศึกษา ในอันที่จะบ่มเพาะความเพียรในตัวเด็กได้ พวกเขาจะต้องปลูกฝังแนวคิด “กรอบความคิดแบบเติบโตได้” (Growth Mindset) ให้กับเด็กๆ โดยสอนให้พวกเขารู้ว่าความล้มเหลวไม่ใช่สภาวะที่ถาวร นักเรียนจะต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวและก้าวต่อไป และนี่ก็คือบทเรียนสำคัญที่คุณครูไม่ว่าที่ไหนๆควรจะรวมเข้าไว้เป็นภารกิจในการสอนประจำวัน
(รับชมได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=H14bBuluwB8)

แหล่งข้อมูลจาก http://www.edudemic.com/10-best-ted-talks-of-2014-for-educators/