Homeschool กับ 5 เรื่อง ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำความเข้าใจ

สถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไร กับการเรียนออนไลน์ที่เหมือนจะต่อเนื่องไปยาวๆ อาจทำให้หลายๆ ครอบครัว เริ่มหันมาสนใจการเรียนรู้แบบ Homeschool มากขึ้น แต่ถึงแม้ คำว่า Homeschool จะแปลตรงๆ ว่า บ้านเรียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ ที่เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด จะกลายเป็นเด็ก Homeschool ไปทั้งหมดนะคะ จะว่าไปแล้ว ในสังคมไทย ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำ Homeschool อยู่ไม่น้อย ว่าแล้วเราจึงมีคำอธิบายเกี่ยวกับ 5 ข้อที่คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบ Homeschool มาฝากค่ะ

“Homeschool พ่อแม่ต้องสอนเองทุกอย่าง”

ความจริง : 

Homeschool หรือที่กระทรวงศึกษาธิการ ใช้คำว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ในปัจจุบันนี้มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา จดกับโรงเรียนที่รองรับเด็ก home school ลงทะเบียนเรียนกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ชั้นป.1 – ป.6)หรือกับสถาบันการศึกษาทางไกลสำหรับระดับมัธยม หรืออาจจดทะเบียนเรียนออนไลน์กับหลักสูตรต่างประเทศ ดังนั้น จะเห็นว่าการทำ Homeschool นั้นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนเองทุกอย่างเสมอไป บางครอบครัวอาจสอนเอง หรืออาจจัดหาผู้ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ มาสอนก็ได้ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเด็กๆ

อย่างไรก็ตาม ครอบครัว Homeschool ที่เลือกจดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา จะมีหน้าที่เพิ่มจาก Homeschool รูปแบบอื่นๆ คือ ครอบครัวจำเป็นต้องเขียนแผนการจัดการศึกษาพื้นฐานโดยครอบครัว เพื่อยื่นขออนุญาตกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษาด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปค่ะ เพราะที่สนง.เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนใหญ่จะมีตัวอย่างแผน มาให้ดูเป็นแนวทาง รวมทั้งยังหาข้อมูลเพิ่มเติมมากมายได้จากอินเทอร์เน็ต

“Homeschool จบแล้วไม่ได้วุฒิการศึกษา”

ความจริง : 

ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่า Homeschool แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ จะไม่มีวุฒิการศึกษานะคะ เพราะหากจดทะเบียนกับสนง.เขตพื้นที่การศึกษา เด็กๆ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งได้รับสิทธิต่างๆ ตาม

กฏหมาย เช่น การรับเงินสนับสนุนการศึกษา หรือการเรียนรด. สำหรับครอบครัวที่จดทะเบียนเรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกล หรือฝากชื่อกับโรงเรียน หรือศูนย์การเรียนต่างๆ ก็จะได้รับวุฒิจากสถาบันที่ตนเองสังกัดเช่นกัน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องวุฒิการศึกษา หากเด็กๆ สามารถผ่านการประเมินได้ตามเกณฑ์ก็ย่อมได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนเด็กในระบบโรงเรียนทั่วไป สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปได้

“เด็ก Homeschool ไม่มีเพื่อน เข้าสังคมไม่เป็น”

ความจริง : 

แม้เด็กๆ Homeschool จะไม่ได้ไปโรงเรียนตามระบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็ก Homeschool จะต้องอยู่แต่ในบ้าน ในทางกลับกัน เด็ก Homeschool อาจมีเพื่อนจากการทำกิจกรรมกลุ่ม ได้พบเจอผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนทุกเพศ ทุกวัยมากกว่าเด็กที่ไปโรงเรียนตามระบบ เพราะการเรียน Homeschool ไม่จำกัดแค่ครู และเพื่อนที่โรงเรียน แต่มักได้เรียนรู้จากผู้คนหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการจัดการศึกษา และกิจกรรมของแต่ละครอบครัว เด็ก Homeschool จึงมีสังคมไม่ต่างจากเด็กที่ไปโรงเรียนทั่วไป

“Homeschool เหมาะกับเด็กบางกลุ่มเท่านั้น”

ความจริง : 

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้ในรูปแบบ Homeschool อาจคิดว่า Homeschool เหมาะกับเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่มีปัญหาการเข้าสังคม หรือเด็ก gifted ที่มีความสามารถพิเศษ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกคน สามารถเรียนรู้ในรูปแบบ Homeschool ได้ แม้ว่าจะเคยเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไปมาแล้ว ก็อาจออกมาเรียน Homeschool ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันภายในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ และเด็กๆ ว่าการเรียนรู้รูปแบบใดที่ตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นผู้เรียนได้มากที่สุด รวมถึง พ่อแม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้มากเพียงใด เพราะถึงแม้พ่อแม่อาจไม่ได้สอนลูกเอง แต่การทำ Homeschool พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีเวลาให้ลูกมากกว่าการเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไป หากพิจารณาแล้วว่า Homeschool น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหน ก็สามารถเป็นเด็ก Homeschool ได้ค่ะ

“Homeschool ค่าใช้จ่ายสูง ”

ความจริง : 

ค่าใช้การในการทำ Homeschool จะสูงหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละครอบครัว หากต้องการให้เด็กๆ เข้ากลุ่มทำกิจกรรมหลากหลาย เรียนเสริมด้านวิชาการหลายแห่ง ก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ในทางกลับกัน หากพ่อแม่สามารถจัดสรรเวลาสอนลูกเอง หรือ เข้าร่วมกลุ่ม Homeschool แบ่งปันสื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ก็อาจประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ดังนั้น การทำ Homeschool จึงไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับการวางแผนจัดการของแต่ละครอบครัว หากเปรียบเทียบกับการเรียนในระบบทั่วไป ที่ต้องมีค่าเครื่องแบบ ค่ากระเป๋านักเรียน รวมทั้งค่าเดินทางต่างๆ Homeschool จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ทำให้สามารถนำเงินในส่วนดังกล่าว มาจัดสรรกิจกรรมหรือสื่อการเรียนให้ลูกได้ และในกรณีจดทะเบียนกับสนง.เขตการศึกษา ก็จะได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาจากรัฐอีกด้วย