จีนใช้เทคนิคตัดต่อเบสกับดีเอ็นเอตัวอ่อนมนุษย์ครั้งแรกของโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นในมณฑลกวางโจวของจีน ได้ทดลองใช้เทคนิค “ผ่าตัดด้วยเคมี” (Chemical surgery) ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อขจัดโรคร้ายทางพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก

การผ่าตัดนี้เป็นการตัดต่อเบส (Base editing) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ โดยจะเลือกซ่อมแซมข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่เบสเพียงตัวเดียว จากลำดับเบสทั้งหมดที่มนุษย์มีอยู่ถึง 3,000 ล้านตัว

มีการเผยแพร่รายละเอียดของการทดลองครั้งนี้ในวารสารวิชาการ Protein and Cell โดยระบุว่านักวิทยาศาสตร์ได้ตัดต่อพันธุกรรม ของตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งในห้องปฏิบัติการ เพื่อกำจัดโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้าออกจากรหัสพันธุกรรมของตัวอ่อน โดยมีการตัดต่อเบสตัวใดตัวหนึ่งใน 4 ชนิด ซึ่งได้แก่อะดีนีน ไซโตซีน กัวนีน และไทมีน ซึ่งแทนด้วยตัวอักษร A, C, G, T ตามลำดับ ส่งผลให้พิมพ์เขียวที่กำหนดกลไกการทำงานในร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้าที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดจากความผิดพลาดที่เบสเพียงตัวเดียวในรหัสพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์เฉพาะจุด (Point mutation) ซึ่งทีมวิจัยของจีนได้ใช้วิธีสแกนดีเอ็นเอเพื่อหาข้อบกพร่อง จากนั้นจึงเปลี่ยนเบส G ที่ทำให้เกิดโรค ให้กลายเป็นเบส A ตามรหัสพันธุกรรมที่ถูกต้อง

รศ.หวง จุนจิว ผู้นำทีมวิจัยกล่าวกับบีบีซีว่า “เราเป็นทีมแรกของโลกที่แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์ โดยใช้เทคนิคการตัดต่อเบส การศึกษานี้ช่วยเปิดทางสู่การรักษาและป้องกันไม่ให้เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า หรือแม้แต่โรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ด้วย”

ปฏิวัติวิทยาการพันธุศาสตร์

การตัดต่อเบส ถือเป็นเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมที่ก้าวหน้าไปยิ่งกว่าการทำคริสเปอร์ (Crispr) ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังก่อนหน้านี้ วิธีแบบคริสเปอร์นั้นจะแยกสายดีเอ็นเอออกจากกัน ซึ่งเมื่อร่างกายพยายามซ่อมแซมดีเอ็นเอส่วนที่เสียหาย ยีนตัวหนึ่งจะใช้การไม่ได้ และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์สามารถฝังข้อมูลทางพันธุกรรมใหม่ลงไปได้ ซึ่งต่างจากเทคนิคการตัดต่อเบสที่จัดการกับเบสตัวที่มีปัญหาโดยตรง

ศ.เดวิด หลิว จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการตัดต่อเบสคนแรกของโลกเรียกวิธีการนี้ว่า “การผ่าตัดด้วยเคมี” ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า และทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ

“ในบรรดาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ที่เรารู้จักกัน มีอยู่ราว 2 ใน 3 ที่เกิดจากการกลายพันธุ์เฉพาะจุด ดังนั้นการตัดต่อเบสจึงมีศักยภาพที่จะช่วยแก้ไขโรคเหล่านี้โดยตรง หรืออาจจะใช้เพื่อผลิตซ้ำตัวอย่างสำหรับงานวิจัยได้” ศ. หลิวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นเคยเป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว จากการทดลองใช้เทคนิคคริสเปอร์กับตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรก

ด้านศ.โรบิน โลเวลล์-แบดจ์ จากสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่า บางส่วนของงานวิจัยนี้เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่ชาญฉลาด แต่ก็ตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงไม่ทดลองกับตัวอ่อนของสัตว์ให้มากกว่านี้ ก่อนจะเลื่อนขั้นมาใช้ตัวอ่อนมนุษย์ซึ่งยังคงมีปัญหาในเชิงจริยธรรมอยู่

อย่างไรก็ตาม ศ.โลเวลล์-แบดจ์ กล่าวว่า วิธีการตัดต่อแก้ไขพันธุกรรมในตัวอ่อนมนุษย์เหล่านี้ ไม่น่าจะถูกนำมาใช้จริงในเชิงการแพทย์ได้ในเร็ววัน “ยังต้องมีการถกเถียงอภิปรายกันอีกมาก ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งเรื่องจริยธรรม และเรื่องกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมวิธีการเหล่านี้ ในหลายประเทศรวมทั้งจีนจะต้องมีการจัดตั้งกลไกกำกับ ควบคุมดูแล และติดตามผลระยะยาวด้วย”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bbc.com/thai/international-41425015