“Home school” อีกทางเลือกของการเรียน ข้อดี ข้อเสีย วุฒิการศึกษา

วิกฤติ โควิด-19 ทำให้หลายบ้านตอนนี้พ่อและแม่ต้อง Work from Home ส่วนเด็ก ๆ ก็ปิดเรียน On Site ปรับรูปแบบการเรียบการสอนมาเป็นแบบ On Line “โฮมสคูล” ทำให้ทุกคนในบ้านต่างต้องปรับกิจกรรมและพฤติกรรมกันถ้วนหน้า ช่วงนี้ คงเป็นเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาใส่ใจกิจกรรมการเรียนของลูก แล้วพ่อแม่จะคุยกับลูกอย่างไรให้การเรียนหนังสือของลูกเกิดขึ้นภายในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับลูก ๆ ถึงวิธีการเรียนในปัจจุบัน ว่ามีทั้งแบบเรียนที่โรงเรียนและเรียนที่บ้าน ซึ่งไม่ว่าจะเรียนแบบไหนก็สามารถทำให้ลูกประสบความสำเร็จ มีความรู้ ทำงาน มีรายได้ ไม่ต่างกัน ส่วนตารางประจำวันของลูกก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร อาจทำให้ลูกมีเวลาเรียนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องฝ่ารถติด ทั้งไปและกลับ

  • การจัดตารางเวลาให้ลูกทำประจำวัน

ให้พ่อแม่อิงเวลาเดิมเหมือนตอนไปโรงเรียน ตื่น อาบน้ำ ทานข้าว เรียน เล่น เหมือนเดิม พ่อแม่อาจต้องแบ่งหน้าที่ดูแลลูกให้ดี จัดตารางเรียนลูก 6 – 8 ชม. / วัน ให้ชัดเจน เช็คการบ้านออนไลน์ที่ครูส่งมา จัดสรรเวลา สร้างวินัย ถ้าครูให้ตารางสอนมาด้วย จะช่วยพ่อแม่ได้อีกแรง ส่วนเด็กเล็กวัยอนุบาลหรือประถมต้น คุณพ่อคุณแม่อาจยังต้องช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจยังไม่สามารถวางแผนด้วยตัวเองได้

  • เรียนที่บ้าน “โฮมสคูล” Home school ต่างจากเรียนที่โรงเรียนอย่างไร

ธรรมชาติของเด็ก สมาธิจะจดจ่อการเรียนได้มากที่สุด คือ ประมาณ 20 – 30 นาที ขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยถ้ายังมีครูเป็นผู้ดำเนินการสอน คอยถามคอยเตือน จะสามารถช่วยสร้างสมาธิให้เด็กได้ แต่ถ้าเรียนที่บ้านหรือเรียนออนไลน์ สมาธิของเด็กอาจวอกแวกได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำหน้าที่แทนครู คุยกับลูกก่อนว่า วันนี้คุณครูสั่งให้ลูกเรียนอะไรบ้าง คุณครูสั่งงานสั่งการบ้านรึเปล่า ต้องส่งวันไหน แล้วคอยมองดูว่าเป็นไปตามตารางหรือไม่ เพราะเมื่ออยู่ในบ้านด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถคอยมองและสังเกตดูได้

 

แต่อย่าลืมให้ลูกได้พักหรือแทรกกิจกรรมอื่น ตามที่เคยทำที่โรงเรียน แต่อาจแค่ปรับสถานที่ในการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบทำคนเดียว หรือจะเล่นเพื่อน ๆ พี่น้อง งานกลุ่ม ก็อาจต้องมีสื่อโซเชียลมีเดียมาช่วยบ้าง แต่ก็ต้องปรับรูปแบบและเวลาให้เหมาะสม

เรื่องสุขภาพก็สำคัญ เด็กต้องออกกำลังกาย เด็กเคยมีวิชาพละศึกษา คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใส่ตารางนี้เข้าไปด้วย แต่อาจเปลี่ยนเป็น แอโรบิค โยคะ เตะฟุตบอลในโรงรถแทน อย่าให้ลูกดูการ์ตูนหรือติดหนังซีรีส์ตามพ่อแม่ เพราะอาจส่งผลถึงโรคอ้วนและเรื่องไขมันตามมา เพราะไม่ยอมเคลื่อนไหวออกกำลัง อีกทั้งการได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้เด็ก ๆ ได้อีกด้วย

 

ข้อดีของการเรียนที่บ้าน “โฮมสคูล” Home school

ในเมื่อผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตเห็นการเรียนรู้ของลูกได้อย่างใกล้ชิด จะทำให้รู้ว่าเด็กชอบอะไร มีความสุขกับสิ่งใด จะช่วยพ่อแม่ในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับลูกได้ และในเมื่อผู้ปกครองเข้าใจเด็ก ๆ แล้ว ก็นับเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในชีวิตของเด็กอีกด้วย

อีกข้อที่สำคัญ การเรียนที่บ้านจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดเวลาที่ต้องใช้ในการเรียนตามระบบ แต่พ่อแม่ต้องเรียนรู้หลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย มีความทันสมัยและเข้ากับตัวเด็ก ทางที่ดี การโทรปรึกษากับครูโดยตรงว่าวิชาที่เรียนเป็นไปตามหลักสูตรของเด็ก ๆ หรือไม่ แค่ไหน เพื่ออาจหาช่องทางและเวลาเพิ่มการเรียนวิชาที่ยังขาดหายไปได้

เด็กที่เรียนที่บ้านอาจเป็นเด็กกล้าคิดกล้าตัดสินใจมากขึ้น เพราะเด็กจะรู้จักตัวเองและมีประสบการณ์การแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยมีพ่อแม่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน จะทำให้เด็กมีประสบการณ์ในการคิด รับผิดชอบ และทำอะไรด้วยตัวเองเยอะขึ้น

 

ข้อเสียของการเรียนแบบ “โฮมสคูล” Home school

  • พ่อแม่ต้องจัดสรร แบ่งเวลาในการทำงานและการสอนลูก และฝึกจัดการกับอารมณ์ตัวเอง หากต้องพบปัญหาเหล่านี้ เมื่อลูกขาดความตั้งใจในการเรียน หรือไม่สามารถทำงานส่งได้ตามเป้าหมาย พ่อแม่ควรช่วยลูกวางแผนการเรียนให้ดี เพราะการเรียนที่บ้านอาจทำให้เรียนช้ากว่าการเรียนในโรงเรียน และควรคุยสร้างความเข้าใจและการยอมรับกับลูกหากมีคนอื่นพูดไปในทางที่ไม่ดีของการเรียนที่บ้าน

เด็กจะขาดทักษะทางสังคมหรือไม่ หากเรียนแบบ “โฮมสคูล” Home school

  • พ่อแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกเรียนที่บ้าน อาจมีความกังวลว่าเด็ก ๆ จะขาดทักษะการเข้าสังคม จะรู้จักการปรับตัว ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้หรือไม่ เพราะการเรียนแต่ในบ้าน ไม่ได้เจอผู้คนนอกจากพ่อแม่และคนในครอบครัว ต้องอย่าลืมว่า ในที่สุดแล้วเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องการมีเพื่อน มีเวลาเล่นและใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นด้วย
  • พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้เวลากับเพื่อนวัยเดียวกันและผู้ใหญ่อื่น ๆ ตามความเหมาะสม อาจจะให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนแถวบ้าน หรือออกไปทำกิจกรรมข้างนอกร่วมกับคนอื่น ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องมีกฎกติกาให้ลูกและตกลงกันว่า อันไหนทำได้ไม่ได้ ต้องรักษาเวลา โดยอาจลองไปรับลูกกลับบ้านตามเวลาที่ตกลงกัน เพื่อสร้างความเคยชินให้ลูก
  • ปัญหาที่เด็กไม่เข้าสังคม ไม่ยุ่งกับคนอื่น อาจไม่ใช่ปัญหาของเด็กที่เรียนที่บ้าน เพราะปัญหาเหล่านี้สามารถพบได้ทุกที่ ซึ่งในโรงเรียนเองก็มีเด็ก ๆ ที่อาจไม่ชอบเข้าสังคมอยู่เช่นกัน

วุฒิการศึกษาของเด็กที่เรียนที่บ้าน

  • การจดทะเบียนการศึกษาในเขตที่เราอาศัยอยู่ ผู้ที่ต้องการจดทะเบียนกับเขตการศึกษาจะสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับ ม.ปลาย โดยไม่ได้บังคับในเด็กเล็กและอนุบาล สามารถจดได้ตั้งแต่อายุครบ 7 ปี หรือระดับ ป.1 ซึ่งทางเขตการศึกษาจะให้ผู้ปกครองเขียนหลักสูตรที่จะสอนลูกว่าจะสอน ให้คะแนน และประเมินลูกอย่างไร โดยทางเขตมีการแนะนำสำหรับการจัดการเรียนการสอนของผู้ปกครองให้อย่างเหมาะสม
  • เมื่อเด็ก ๆ เรียนผ่านทุกปีพร้อมกับเขตการศึกษาได้รับรายงานผลการเรียนจากพ่อแม่ ทางเขตฯ ก็จะออกใบประกาศให้ ซึ่งสามารถเอาไปสอบได้เหมือนกับนักเรียนในระบบ และผู้ปกครองก็จะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากภาครัฐอีกด้วย โดยผู้ปกครองจะสอนเอง หรือนำเงินนั้นไปจ้างครูมาสอนก็ได้แล้วแต่การจัดการ
  • การจะตัดสินใจให้ลูกเรียนที่บ้าน “โฮมสคูล” นั้นทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายกับทุกคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้ปกครองและเด็ก วิถีชีวิตของแต่ละคน แนวคิดและอาจรวมไปถึงสถานภาพครอบครัว

ทั้งนี้ การเรียนในโรงเรียนหรือเรียนที่บ้าน พ่อแม่ต้องคอยหาข้อมูลจากคุณครูว่าการเรียนถูกต้องตรงหลักสูตรหรือไม่ คอยช่วยหาเวลาทบทวน เช็คผลการสอบ และประเมินกับคุณครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการเรียนของลูกออกมาดี