Home School การเรียนรูปแบบใหม่ ที่อาจเข้ามาแทนที่ระบบเดิมไวกว่าที่คิด

Covid-19 นำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ บริบทครั้งใหญ่ของโลก แต่สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างห้ามคลาดสายตา ก็คือ ประเด็นด้าน “การศึกษา” ปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่มนุษย์ทุกคนพึงมี การศึกษาจะก้าวต่อไปทิศทางใดเมื่อโรคระบาดยังคงอยู่ การไปโรงเรียนสถานที่รวมตัวของคนหมู่มาก เสมือนการเต็มใจน้อมรับความเสี่ยงในการรับเชื้อจากภายนอก ประเด็นเหล่านี้เริ่มทำให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หันกลับมามองเรื่องนี้อย่างหวั่นวิตก และ Home School คือ ทางออกแรกที่แวบเข้ามาในความคิดของผู้ปกครองหลาย ๆ คน

ทำความรู้จัก Home School ระบบการศึกษาเพื่อคนในครอบครัว

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน คงได้ยินคำนี้กันมานาน Home School การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ที่ประเทศไทยอนุญาตให้ทำการเรียนการสอนลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2542 แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ทั้งนี้กำหนดให้จัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมุ่งเน้นความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ และคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้ทำการสอนเอง แต่มีเงื่อนไขว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นต้องมีการวุฒิการศึกษาไม่น้อยไปกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยนี้มีคุณภาพที่ยืนอยู่ในมาตรฐานการศึกษาเดียวกันกับการเรียนในโรงเรียน

โดยการเรียนแบบ Home School นี้จะเน้นหลักการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เด็กมีความสนใจ ไม่เฉพาะความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงความรู้ในการดำเนินชีวิต การออกสู่โลกกว้างเพื่อลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง พัฒนาศักยภาพทางทักษะและอารมรณ์ไปพร้อม ๆ กัน คอยสังเกตและผลักดันเมื่อค้นพบสิ่งที่ลูกน้อยมีความถนัด และชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่ต้องไม่ลืมที่จะเสริมทักษะอื่น ๆ เข้าไปให้ครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

รู้ไว้เปรียบเทียบ ข้อดีและข้อเสียของการเรียนแบบ Home School ที่พ่อแม่ควรทราบ

ข้อดี Home School

  1. ความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ความรักความอบอุ่นที่ลูกจะได้รับอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นความผูกพันระหว่างกันที่แน่นแฟ้น สร้างช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกันได้มากกว่าปกติ
  2. เกิดความยืดหยุ่นทางการศึกษา เมื่อไม่มีกรอบของทางโรงเรียนมาบังคับ เด็กได้เรียนในวิชาที่อยากเรียนจริง ๆ และพัฒนาทักษะได้อย่างถูกทางตรงประเด็น สร้างความสนใจ และใฝ่เรียนให้กับเด็ก เพราะเกิดจากความสนใจและอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การบังคับให้เรียน
  3. ลดการเกิดสถานการณ์การเปรียบเทียบระหว่างลูกตนเองกับลูกคนอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างปมปัญหาให้กับเด็กอยู่ไม่น้อย
  4. ลูกไม่ถูกรังแก กลั่นแกล้ง หรือรับแรงกดดันจากโรงเรียน จนกลายเป็นเด็กเก็บกด หรือมีภาวะซึมเศร้า
  5. ปลูกฝังทัศนคติแห่งการเรียนรู้ให้กับลูก ให้ลูกเข้าใจว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่แค่ช่วงเปิดเทอม หรือช่วงที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น
  6. ใช้จ่ายค่าเล่าเรียนได้อย่างคุ้มค่า แทนที่จะเสียไปกับค่าเทอม ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การไปโรงเรียน และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่กลับนำเม็ดเงินเหล่านี้มาจ่ายให้กับสื่อการเรียนการสอน หนังสือสำหรับเด็ก บัตรเปิดโลกเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นการใช้เงินที่ตอบโจทย์การศึกษาของลูกได้อย่างคุ้มค่า
  7. ลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาดสำหรับเด็ก อย่างมือเท้าเปื่อย หรือโรคสุดฮิตในปัจจุบันอย่าง Covid-19

ข้อเสีย Home School

  1. คุณพ่อคุณแม่ต้องเพิ่มความอดทนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว กับการเรียนการสอนที่ยากจะควบคุมให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ และสนใจในสิ่งที่สอนได้ตลอดเวลา
  2. หากให้ความสำคัญและความเข้มงวดกับหลักสูตร หรือแผนการสอนไม่มากพอ อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการหรือความรู้ที่ช้ากว่า อ่อนกว่าเด็กที่เรียนระบบปกติในโรงเรียน
  3. คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เตรียมสอนอย่างเป็นระบบ และอัปเดต
    เทรนด์การศึกษาอยู่เสมอ เพื่อให้ก้าวทันโลกไม่ล้าหลัง
  4. ลูกน้อยอาจเรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อนได้ช้า หรืออาจกลายเป็นเด็กเก็บตัว ชอบทำอะไรคนเดียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเพื่อน หรือเข้ากับเพื่อนไม่ได้เลย เพราะปัจจุบันเด็กที่เรียนแบบ Home School สามารถไปเข้าเรียนในบางวิชาร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนได้
  5. เด็กอาจขาดทักษะด้านความอดทน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทนรับแรงเสียดทาน หรือแรงกดดันจากภายนอกได้น้อยกว่าปกติ ด้วยความที่อยู่ใน Safe Zone ในบ้านของตนมาโดยตลอด

ขั้นตอนสร้าง Home School ในไทย เรียนต่อได้เหมือนเพื่อนไม่ต่างจากไปโรงเรียน

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ ก่อนคิดจะให้ลูกเรียน Home School เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตามมาในภายหลัง โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

  1. จดทะเบียนยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาโดยครอบครัว และจัดทำหลักสูตรรวมถึงแผนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอกระทรวงศึกษาธิการผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใกล้บ้าน
  2. เมื่อได้รับการอนุญาตแล้วให้ดำเนินการตามแผนการสอนที่เสนอไปอย่างเคร่งคัด
  3. คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ของลูกน้อยด้วยตนเอง โดยต้องให้เป็นไปตามเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้าตรวจสอบ ปีละ 1 ครั้ง ว่าเด็กมีผลการเรียนเป็นไปตามที่คุณพ่อคุณแม่ประเมินไว้หรือไม่
  4. ผลการเรียนที่ผ่านการประเมินแล้ว จะสามารถนำไปเทียบระดับชั้นการศึกษาตามระบบปกติได้ ซึ่งจะประเมินแบบนี้ทุกปีจนสิ้นสุดที่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยสามารถนำผลนี้ไปใช้สอบเทียบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งสถาบันในไทยและต่างประเทศ ไม่ต่างจากเด็กที่เรียนในโรงเรียนทั่วไป

ทั้ง ๆ ที่รูปแบบการจัดการศึกษาด้วยตัวเองของไทยถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการมากว่า 20 ปี แต่กลับไม่ได้รับความสนใจสักเท่าไหร่ และทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปในยุค Covid-19 ดูได้จากช่วงมาตรการ Lock Down กักตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การศึกษาต้องหยุดชะงัก โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมจากกำหนดเดิมไปหลายเดือน หลายครอบครัวเริ่มทดลองจัดการเรียนการสอนเองที่บ้าน และพบว่ามีเสียงตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดีเลยทีเดียว

และถึงแม้ไทยเราจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปแล้ว และปลดล็อคมาตรการต่าง ๆ มาได้สักระยะ แต่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเจ้าโรคระบาดนี้จะกลับมาทำร้ายเราอีกหรือไม่ บางที Home School อาจเป็นทางออกของการศึกษาที่จะเข้ามาแทนที่ระบบการศึกษาเดิมแบบปัจจุบันทันด่วนก็เป็นได้ หากเรายังต้องยืนหวาดระแวงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ไม่อาจคาดเดาเช่นนี้ต่อไปไม่รู้จบ