รวมคำถามยอดฮิต GED

GED ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไหน คณะไหนได้บ้าง? แล้วต้องมีคะแนน GED เท่าไร วันนี้ทาง Joint Education ได้ลองรวบรวมคำถามที่โดนถามบ่อยๆ พร้อมมาให้คำแนะนำดีๆ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้น้องๆ เตรียมตัวสำหรับการสอบ GED ได้อย่างไม่พลาดเป้าไปดูกันเลยค่า!

1. อยากเข้าอินเตอร์ ม.ดัง คะแนน GED เท่าไหร่ถึง

         คณะส่วนใหญ่ของกลุ่ม มหาวิทยาลัย จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์อินเตอร์ จะตั้งเกณฑ์รับนักเรียน GED ตามเกณฑ์ที่ ทปอ. กำหนด นั่นก็คือ คะแนนรวม 4 วิชา 660/800 (ถึงหน้าเว็บของบางคณะจะไม่ได้ระบุตัวเลขนี้ แต่เชื่อเถอะค่ะ ตั้งเป้า 660 ไว้ก่อนจ้า) เกณฑ์นี้ถามว่ายากไหม ถ้าพื้นภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว ไม่ยากค่ะ แต่ก็อย่าประมาท เพราะ GED เป็นข้อสอบที่ไม่สามารถสอบได้หลายครั้ง ขอย้ำ! ดังนั้น การเตรียมตัวและการวางแผนจึงสำคัญมาก

ส่วนของ มหิดลอินเตอร์ หรือ MUIC เกณฑ์รับ คือ คะแนนรวม 4 วิชา 600/800 และ ต้องมีวุฒิ ม.4 (หลักสูตรไทย) หรือ Grade 10 (หลักสูตรอเมริกัน) หรือ Year 11 (หลักสูตรอังกฤษ) เกณฑ์ 600/800 ทำให้ถึง ไม่ยากเลยค่ะ แต่น้องต้องเรียน ม.4 นะคะ ในเคสของน้องที่มีแค่วุฒิ ม.ต้น และอยากเข้า MUIC น้องๆ ต้องไปเรียน ม.4 ในระบบก่อนนะคะ

         ถัดไปเราจะเฉลี่ยคะแนนของก้อน 4 วิชานี้อย่างไรดี ให้คะแนนรวมมันถึงเป้าและเป็นไปได้จริงๆ ซึ่งน้องๆ ที่ยังไม่เคยสอบ GED อาจจะยังไม่เห็นภาพว่า ตัวไหนทำคะแนนสูงๆ ได้ง่าย และตัวไหนทำคะแนนสูงๆ ได้ไม่ง่ายเท่าไหร่  โดยทั่วๆ ไปแล้ว คะแนนวิชา math และ science สามารถทำให้ถึง 170-175 ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่ทำ math ได้ดี อ่านภาษาอังกฤษคล่อง และคุ้นเคยกับแนวโจทย์ (เรื่องความคุ้นชินกับโจทย์ข้อสอบนี้สำคัญมากๆ ค่ะ ข้อสอบไม่ได้มีแต่ multiple choices นะคะ มีหลายอย่าง ไม่คุ้นแนวก็อาจทำให้คะแนนน้อยลงได้นะ อย่าประมาทเรื่องฝึกทำโจทย์)

ส่วน Social Studies และ RLA ทำคะแนนให้เกิน 145 ไม่ยาก แต่ให้ถึง 165 ไม่ง่ายค่ะ พูดจริงๆ ถ้าเทียบ Social Studies และ RLA สัดส่วนนักเรียนได้ Social Studies เกิน 165 คะแนนมีมากกว่าค่ะ เพราะถึง GED จะบอกว่าการสอบ GED จะ ใช้การอ่านเนื้อหาในข้อสอบก็จริง แต่ Social studies ยังมีเนื้อหาที่เป็นความรู้ที่พอพี่สอน พี่เน้นไป มันช่วยให้ตอบคำถามได้ถูกมากขึ้น ทำได้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะน้องที่อ่านอังกฤษได้ดีแต่ไม่ได้อ่านไวอ่านคล่องมากก็สามารถทำถึง 165+ ได้ค่ะ พี่กล้าคอนเฟิร์ม แต่ในส่วนของ RLA ต้องแอบบอกว่าเป็นวิชาพึ่งบุญเก่าจริงๆ ค่ะ  บุญเก่าที่ว่าก็คือทักษะภาษาอังกฤษทั้งการอ่านและการเขียนที่เราสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวันสอบ เพราะ RLA เป็นวิชาที่วัด “ทักษะ” ค่ะ ดังนั้นน้องๆ ที่ยังพบปัญหาไม่รู้ศัพท์ แปลเรื่องไม่ออก อ่านเรื่องไม่ทัน เขียนเรียงความไม่จบ เลยทำให้คะแนนถึง 165 ได้ค่อนข้างยากค่ะ แต่ถ้าน้องๆ ใช้ภาษาอังกฤษจนชำนาญ อ่านเก่ง วิเคราะห์เป็น ตีความวรรณกรรมออก ก็ทำคะแนนถึง 165 ได้ค่ะ แต่เท่าที่เจอมามีน้อยคนที่จะได้ถึงคะแนนช่วงนี้ต้องฝึกทำโจทย์ให้เยอะและขยันอ่านเขียนภาษาอังกฤษนอกห้องเรียนให้มากๆ นะคะ

ขอแนะนำเกณฑ์ที่เป็นไปได้สำหรับ จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ อินเตอร์ และ มหิดลอินเตอร์ (MUIC) ตามนี้นะคะ

น้องๆ จะเห็นว่า Math and Science เป็นวิชาที่สามารถทำคะแนนให้สูงๆ ได้ไม่ยาก แนะนำให้น้องๆ มาวางแผนเตรียมตัว และฝึกให้คุ้นกับแนวโจทย์นะคะ ความรู้ที่มีอยู่แล้ว ถ้าได้มาฝึกให้ชำนาญ เจอครูที่เชี่ยวชาญในตัวข้อสอบ คะแนนจะยิ่งสูงขึ้นค่ะ  ถ้าน้องๆ อยากรู้ว่าพื้นฐานการทำโจทย์ GED ของตัวเองมีประมาณไหน พี่แนะนำให้ไปลองทำ GED Ready นะคะ

2. GED ยื่นเข้าคณะสายวิทย์ – วิศวะ – สถาปัตย์ได้มั้ย

         เรื่องนี้มีน้องถามมาหลายคนมากค่ะ จากการที่ ทปอ. เทียบนักเรียนที่ยื่นด้วยวุฒิ GED ว่าเทียบเท่านักเรียน ศิลป์ภาษาและศิลป์คำนวณ น้องๆ และ ผู้ปกครองหลายท่านก็กังวลว่าจะยื่นเข้าคณะกลุ่มสายวิทยศาสตร์ / วิศวกรรมศาสตร์ / สถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ไหม

ขอตอบว่า “ยื่นได้” นะคะ ตราบใดที่ ประกาศคณะบอกว่ารับก็คือยื่นได้ค่าในส่วน ทปอ. ระบุว่า นักเรียนที่ยื่นด้วยวุฒิ GED ว่าเทียบเท่านักเรียน ศิลป์ภาษาและศิลป์คำนวณ ก็เพราะว่า ความรู้ในการทำวิชา Math and Science นั้น ใช้ความรู้พื้นฐานมัธยมต้นเมื่อเทียบในหลักสูตรโรงเรียนไทย (เด็กนักเรียนในระบบหลักสูตรโรงเรียนไทยสายวิทย์คณิต เรียนวิชา Math and Science เข้มข้นกว่าคำถามในโจทย์ข้อสอบมากค่ะ)

3. ควรลาออกจากโรงเรียนมาเพื่อเตรียม GED เลยมั้ย

         ถ้าตอนนี้น้องๆ ยังเรียนอยู่ในระบบ ไม่แนะนำให้ออกจากโรงเรียนค่ะ เพราะ GED เป็นข้อสอบที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทั้งวันเพื่อให้สอบผ่าน น้องๆ สามารถแบ่งเวลาหลังเลิกเรียนจากที่โรงเรียนมาเตรียม GED ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ได้ perfect score ในการยื่น TCAS รอบแรก ถ้าน้องๆ วางแผนและจัดเวลาดีๆ 3-4 เดือน ก็สามารถสอบเทียบได้วุฒิ GED ได้ไม่ยากค่ะ ดังนั้น ไม่แนะนำให้ออกจากโรงเรียนนะคะ

ส่วนน้องๆ ที่เป็น Homeschool อยู่แล้ว น้องๆ จะมีเวลาในการเรียนและฝึกฝนทำโจทย์นอกห้องเรียนได้มากขึ้นนะคะ อาจใช้เวลาน้อยกว่า 3 เดือน (ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางภาษาอังกฤษของน้องๆ ด้วย) และยังมีเวลาเหลือในการโฟกัสเตรียมตัว IELTS และ SAT ซึ่งเป็น Requirement เพิ่มเติมในการยื่นเข้าคณะอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยรัฐในไทยด้วยค่ะ

4. เด็กอินเตอร์ควรเรียนพวก Social Studies มั้ย เพราะที่โรงเรียนก็สอนอยู่แล้ว

         ถ้าน้องได้ลองทำโจทย์ GED Social Studies มาก่อนเรียน คะแนนจะสามารถบอกน้องได้เลยค่ะว่าควรเรียนมั้ย ส่วนตัวแนะนำว่า “ควรเรียน” ถ้าน้องอยากได้ 165 คะแนนขึ้นไป เพราะว่าข้อสอบไม่เหมือนกับ Social studies ที่เรียนในโรงเรียน จากการให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนการเรียนมาหลายปี น้องๆ หลายคนจะเคยเรียน World history มาบ้าง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ WW1, WW2, Cold War แต่สำหรับใน GED Social studies 50% ของข้อสอบ Social Studies คือ Civic and Government การเมืองการปกครองและกฎหมายอเมริกา โดยโจทย์จะเน้นคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงค่ะ

อย่างไรก็ตาม พี่แนะนำลองทำ GED Ready วิชานี้ดูก่อน แล้วน้องๆ จะได้คำตอบเองค่ะ ว่าจำเป็นต้องเรียนวิชานี้หรือไม่ค่ะ ถ้าได้สูงกว่าคะแนนเป้าหมาย (คือ 165+) ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนค่ะ

5. เตรียม GED ทีละตัวหรือเตรียมพร้อมกันเลย และควรเตรียมควบคู่ SAT/ IELTS/etc. ตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยื่นมหาลัยมั้ย

         เรื่องนี้ขึ้นกับว่าน้องๆ รีบใช้คะแนนในการยื่นเข้าแค่ไหน ยื่นปีไหน รอบไหน ถ้าเวลาน้อย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมควบคู่กันไปค่ะ แต่ถ้าพอมีเวลาอยู่สักปีนึงและไม่รีบมาก พี่แนะนำให้เก็บ GED ก่อนแล้วค่อยไปเก็บตัวอื่น เรียน GED จบ สอบ GED Ready แล้วค่อยสอบจริง การสอบ GED จะมีรอบสอบทุกวัน ทำให้ไม่ต้องรอสอบนาน เก็บครบทุกตัวก็ไปโฟกัสอย่างอื่นต่อได้เลยค่ะ

แนะนำเพิ่มเติมว่าให้เรียน Social studies ก่อน RLA นะคะ เพราะว่าบางทีในบทอ่าน RLA จะมีออกเรื่องที่เรียนใน Social studies ด้วย เวลาน้องๆ ทำบทอ่านจะเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น เพราะมีพื้นความรู้ประวัติศาสตร์และการปกครองของอเมริกามาก่อนแล้วค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่น้องๆ ที่มีคำถามแนวนี้อยู่นะ มีข้อสงสัยเพิ่มเติมติดต่อมาได้เลย ทาง Joint Education พร้อมให้คำปรึกษาจ้า