วิธีสอบให้ได้คะแนนเยอะๆ จากสุดยอดอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างประเทศ

ห้องสอบเมืองไทยว่าน่ากลัวแล้ว แล้วห้องสอบเมืองนอกล่ะ การแก้ปัญหาทำข้อสอบไม่ทันและปัญหาในห้องสอบอื่นๆ มาดูวิธีจัดการและเคล็ดลับจากโปรเฟสเซอร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง  เว็บไซต์ Studentbeans ไปสอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองนอกทั้งหลายให้แล้ว ตั้งแต่อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ไปจนถึงภาษาอังกฤษ  ถึงเคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ จัดการความเครียด และลงมือสอบให้ผ่าน! ลองดูเคล็ดลับที่เหมาะกับตัวเองแล้วนำไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ

ทบทวนอย่างไรให้เข้าหัว

“วางแผนล่วงหน้า ฝึกเขียนภายในระยะเวลาที่กำหนด และลองใช้วิธีทบทวนที่สรุปเนื้อหาอย่างรวดเร็วจะช่วยได้มากเวลาเขียนข้อสอบ เช่นการฝึกสรุปไอเดียของตัวเองให้สั้นและกระชับเข้าไว้”
– Victor Tadros, อาจารย์คณะนิติศาสตร์, University of Warwick

“วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการพยายามอธิบายให้คนอื่นฟังให้เข้าใจให้ได้ อีกวิธีนึงที่จะทดสอบความเข้าใจของตัวคุณเองก็คือการพยายามสร้างโจทย์ของตัวเองขึ้นมา แล้วลองแก้โจทย์นั้นเอง”
– Elena Issoglio, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์การเงิน, University of Leeds

“อย่าแค่เรียนหรืออ่านให้เข้าหัว แต่ให้พยายามทำความเข้าใจ เพราะถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะไม่ต้องพยายามจดจำมันเลย แถมยังจะช่วยให้เราไม่ลืมอีกด้วย”
– Immanuel Halupczok, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์, University of Leeds

ก่อนถึงวันสอบ

“ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนสอบ ลองหาข้อสอบเก่ามาทำโดยมีการจับเวลาเหมือนสอบจริง จะได้ประเมินตัวเองถูกว่าเราทำได้แค่ไหน”
– Stephen Griffiths , อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, University of Leeds

“ตรวจสอบการเขียนของคุณว่าอ่านออกได้ง่ายและชัดเจน! ทำตัวให้สบายๆ และคิดว่าจะเขียนได้มากแค่ไหนในการสอบ เวลาสอบจะได้ไม่กดดันตัวเอง และรู้ตัวว่าเขียนมากเพียงพอหรือยัง”
– Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, University of Birmingham

“ไปถึงห้องสอบให้ทันเวลา ให้เวลาตัวเอง 2-3 นาทีในการผ่อนคลายตัวเองก่อนเริ่มสอบ”
– Sebastian Mitchell, อาจารย์อาวุโสด้านวรรณกรรมอังกฤษ, University of Birmingham

สอบจริงแล้วจ้า

“เมื่อถึงที่นั่งสอบแล้ว สูดหายใจเข้าออกลึกๆ 10 ครั้ง และบอกตัวเองว่าการได้เขียนสิ่งที่เราคิดนี่มันช่างมีความสุขเสียนี่กระไร! แล้วก็เริ่มทำข้อสอบอย่างมั่นใจได้เลย”
– Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, Birmingham

“กะจังหวะของตัวเองให้ดี อย่าลืมว่าคะแนน 50% แรกนั้นได้มาง่ายกว่า 10% สุดท้าย การเขียนข้อสอบเยอะๆ นั้นไม่มีค่าหากคุณไม่ได้สังเคราะห์แนวคิดและเพิ่มเติมข้อมูลที่เหนือกว่าคนอื่น”
– Phil Garnsworthy, หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์, University of Nottingham

“ข้อสอบส่วนใหญ่จะมีหลายข้อและให้เลือกทำเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ดังนั้นต้องมั่นใจว่าคุณเลือกคำถามที่เหมาะสมที่คุณมีโอกาสตอบได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำถามที่ง่ายที่สุดเสมอไป อย่าเขียนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง สิ่งที่อาจารย์ทั้งหลายมองหาคือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ตอบคำถามได้อย่างเฉพาะเจาะจง”
– Sebastian Mitchell, อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ, Birmingham

“เขียนให้น่าสนใจ เพราะเวลาตรวจข้อสอบนี่เป็นอะไรที่น่าเบื่อและน่าหงุดหงิดที่สุดเลย คำตอบที่น่าสนใจนี่ช่วยพวกเราได้มาก ทำให้พวกเราอยากจะให้คะแนนข้อสอบเหล่านี้เพิ่มขึ้นเลยแหละ ที่สำคัญคืออย่าอวดเก่งหรือใช้ภาษาที่โก้หรูเกินไป นักวิชาการอย่างเราๆ มักจะดูออกทันที เพราะคนที่เข้าใจแนวคิดจริงๆ จะใช้ภาษาง่ายๆ และตรงไปตรงมาในการอธิบายมากกว่า”
– Victor Tadros, อาจารย์ด้านกฎหมาย, Warwick

“ไม่ว่าจะทำบทคัดย่อทางวิทยาศาสตร์หรือข้อสอบวิชาเลข ต้องอธิบายคำตอบมากกว่าแค่เขียนสูตรอย่าง “y=mx+c” แล้วปล่อยให้คนตรวจคิดเอาเองว่าอะไรคืออะไร ลองตอบแบบนี้แทนดีกว่า ‘The height y is given by y=mx+c where m is …'”
– Mike Evans, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, Leeds

“การยกตัวอย่างอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ได้คะแนน แต่การอ้างอิงนั้นได้คะแนนมากกว่า”
– Phil Garnsworthy, อาจารย์ภาคสัตวศาสตร์, Nottingham

“ถึงแม้ปกติคุณจะไม่ใส่นาฬิกา แต่ช่วยใส่มันเข้าห้องสอบทีเถอะ!”
– Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, Birmingham

“อย่ามองข้ามคำถามที่มีข้อมูลเยอะๆ เพราะคำตอบมักจะง่ายกว่าที่คุณคิด”
– Phil Garnsworthy, อาจารย์ภาคสัตวศาสตร์, Nottingham

“เวลาที่คุณโต้แย้งมุมมองบางอย่าง ควรจะโต้แย้งกับมุมมองที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่ไร้หลักฐาน และควรจะเป็นมุมมองของคนที่มีชื่อเสียงและชาญฉลาด นอกจากนี้ต้องจัดโครงสร้างคำตอบของคุณให้ดีโดยใช้บริบทการโต้แย้งอย่างเหมาะสม ไม่ใช่มีแค่ คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป”
– Victor Tadros, อาจารย์ด้านกฎหมาย, Warwick

“ถ้าทำข้อสอบเสร็จก่อนเวลา อย่าออกจากห้องสอบทันที คุณไม่ได้จ่ายเงินหลายพันปอนด์และตั้งใจเรียนหลายพันชั่วโมงเพื่อทำข้อสอบแบบส่งๆ ใช้โอกาสนี้ตรวจสอบคำตอบของคุณและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของคำตอบเหล่านี้ให้ดีที่สุด”
– Mike Evans, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, Leeds

ขอบคุณข้อคิดดีดีจาก https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/once-you-arrive/lecturers-give-secrets-on-how-to-pass-the-exams/