เทคนิคการเรียนภาษาจากชายที่พูดได้ถึง 9 ภาษา
‘แมทธิว ยูลเดน’ เป็นคนธรรมดาๆ ที่ทำงานอยู่ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เขาใช้ภาษาโปรตุเกสในการทำงานเป็นหลัก ทำให้เพื่อนร่วมงานน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นชายชาวอังกฤษที่พูดได้มากถึง 9 ภาษา และต่อไปนี้คือเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากแมทธิวสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.มีเหตุผลที่ดีในการเรียนภาษานั้นๆ
มันอาจฟังดูซ้ำซาก แต่จริงๆ แล้วหากคุณไม่มีเหตุผลที่ดีพอในการเลือกเรียนภาษาใดภาษาหนึ่ง คุณอาจไม่มีแรงกระตุ้นมากพอในระยะยาวก็เป็นได้ หากคุณแค่ต้องการสร้างความประทับใจด้วยการพูดภาษาฝรั่งเศสให้คนที่พูดภาษาอังกฤษฟัง นั่นอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของเหตุผลที่ไม่ดี แต่หากคุณอยากเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อทำความรู้จักกับคนฝรั่งเศสและเรียนรู้วัฒนธรรมของพวกเขา นั่นเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป อย่างไรเสีย ไม่ว่าเหตุผลของคุณคืออะไรก็ตาม เมื่อเลือกเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งแล้ว มันจำเป็นมากๆ ที่คุณจะต้องทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่
2.หาคนสนิทช่วยฝึก
แมทธิวเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษาพร้อมๆ กับ ‘ไมเคิล’ คู่แฝดของเขาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่เรียนภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศภาษาแรกของพวกเขา จนแตกฉานตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบเท่านั้น โดยแมทธิวระบุว่าการแข่งขันระหว่างพี่น้องช่วยให้เขาเรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น แต่ถ้าคุณไม่มีพี่น้องอย่างแมทธิวและไมเคิล การมีคนสนิทไม่ว่าจะในรูปแบบไหนคอยเรียนรู้ภาษาไปด้วยกันจะช่วยผลักดันให้คุณมีความพยายามมากขึ้นตลอดเวลาและไม่ล้มเลิกความพยายามเร็วเกินไป
“เราเคยมีแรงกระตุ้นกันมากๆ และก็ยังเป็นมาจนถึงทุกวันนี้ เราผลักดันอีกฝ่ายให้เดินหน้าอย่างจริงจัง เมื่อไรก็ตามที่เขารู้สึกว่าผมทำได้ดีกว่า เขาจะรู้สึกอิจฉานิดๆ และพยายามที่จะเอาชนะผม และผมเองก็ทำแบบนั้นเช่นกัน” – แมทธิว ยูลเดน
3.พูดกับตัวเอง
หากคุณไม่มีใครให้ฝึกฝนทักษะการพูดด้วยล่ะก็ การพูดกับตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะวิธีการนี้จะช่วยให้คำศัพท์และวลีต่างๆ ในหัวของคุณถูกนำออกมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้คุณประหม่าน้อยลงเวลาที่ต้องพูดคุยกับคนอื่นในสถานการณ์จริง
“มันอาจจะฟังดูแปลกมาก แต่จริงๆ แล้วการพูดกับตัวเองในภาษานั้นๆ เป็นการฝึกฝนที่ดีมาก ในกรณีที่คุณไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษานั้นๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา” – แมทธิว ยูลเดน
4.อย่าหลงทาง
การพูดคุยกับคนอื่นในภาษานั้นๆ จะช่วยให้การเรียนภาษาของคุณไม่หลงทาง และถ้าคุณตั้งเป้าหมายและให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาเพื่อใช้ภาษานั้นๆ สนทนาจริงในชีวิตประจำวัน คุณจะเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหนังสือเรียนมากขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติ
“คุณไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คุณแค่ไปกินร้านอาหารกรีกในเมืองแล้วสั่งอาหารเป็นภาษากรีกก็ได้” – แมทธิว ยูลเดน
5.สนุกไปกับมัน
พยายามใช้ภาษาที่คุณเรียนรู้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด แมทธิวและไมเคิลฝึกฝนทักษะภาษากรีกของพวกเขาด้วยการแต่งเพลงและอัดเพลง นอกจากนี้ คุณยังอาจจัดรายการวิทยุกับเพื่อนในภาษนั้นๆ วาดการ์ตูนช่อง เขียนบทกวี หรือวิธีการง่ายๆ อย่างการพูดคุยกับใครก็ตามที่รู้ภาษานั้นๆ ก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว หากคุณไม่รู้สึกสนุกไปกับมัน นั่นแปลว่าคุณอาจจะกำลังหลงทางแล้วล่ะ
6.ทำตัวเหมือนเด็ก
การเป็นเด็กไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวและมีอาหารเลอะเทอะไปทั้งตัว แต่มันหมายความว่าคุณควรลองเรียนรู้แบบเด็กๆ ดูบ้าง ความเชื่อที่ว่าเด็กเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่นั้นไม่เป็นความจริง งานวิจัยใหม่ๆ ระบุว่าความสามารถในการเรียนรู้ไม่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุแต่อย่างใด เคล็ดลับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพแบบเด็กๆ คือต้องมีทัศนคติแบบเด็กๆ เช่น การไม่เขินอาย ความยินดีที่ได้เรียนรู้ภาษาอื่น ความเต็มใจที่จะผิดพลาด เป็นต้น
เราทุกคนต่างเรียฯรู้จากความผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ตอนเป็นเด็ก พวกเรามักถูกคาดหวังให้สร้างข้อผิดพลาด แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การพลั้งพลาดกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามขึ้นมา ผู้ใหญ่หลายคนมีแนมโน้มที่จะพูดว่า “ฉันทำไม่ได้” มากกว่า “ฉันยังไม่ได้ลองทำ” ขณะที่การล้มเหลวหรือการดิ้นรนในสังคมที่ว่ากลับไม่ได้เป็นข้อกังวลสำหรับเด็กมากนัก ดังนั้น เวลาเรียนภาษา การยอมรับว่าคุณไม่ได้เก่งไปซะทุกเรื่องเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่อิสระทางการเรียนรู้ จงปล่อยวางความคิดแบบผู้ใหญ่ของคุณซะ!
7.ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน (comfort zone)
การเต็มใจที่จะผิดพลาดหมายความว่าคุณมีโอกาสที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอับอายไม่มากก็น้อยเช่นกัน มันอาจฟังดูน่ากลัว แต่มันเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้คุณได้ปรับกรุงและพัฒนาทักษะของตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณจะเรียนหนักแค่ไหน คุณจะไม่สามารถพูดคุยในภาษานั้นๆ ได้เลยหากคุณไม่เอาตัวเองออกไปเจอผู้คน พูดคุยกับคนแปลกหน้า ถามทาง สั่งอาหาร เรียนรู้ที่จะเล่นมุขตลก ฯลฯ ยิ่งคุณทำแบบนี้บ่อยเท่าไร คอมฟอร์ตโซนของคุณจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้คุณผ่อนคลายมากขึ้นเวลาเจอสถานการณ์ใหม่ๆ
8.ฟัง
คุณจำเป็นต้องเรียนรู้การฟังก่อนที่จะพูด ทุกๆ ภาษาจะฟังดูประหลาดเสมอในครั้งแรกที่คุณฟังมัน แต่ยิ่งคุณฟังมันมากเท่าไร คุณก้จะยิ่งคุ้นเคยกับมันมากเท่านั้น การพูดของคุณก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
“เรามีความสามารถที่จะออกเสียงทุกๆ อย่าง เราแค่ไม่คุ้นเคยกับมันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ตัว r แบบกระดกลิ้นที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ แต่เมื่อผมเริ่มเรียนภาษาสเปนซึ่งมีตัว r กระดกลิ้นอย่างคำว่า ‘perro‘ หรือ ’reunión’ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะฝึกฝนมันจนชำนาญก็คือการฟังอย่างสม่ำเสมอและจินตาการว่าคำๆ นั้นออกเสียงอย่างไร เพราะว่าเสียงแต่ละเสียงใช้ปากและคอไม่เหมือนกันเพื่อให้ได้เสียงนั้นออกมา” – แมทธิว ยูลเดน
9. ดูคนอื่นพูด
ความแตกต่างของแต่ละภาษาไม่ได้อยู่แค่ที่การใช้ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น คุณยังต้องใช้ทัศนคติที่แตกต่างกันในการพูดแต่ละภาษาอีกด้วย ซึ่งการสังเกตและเลียนแบบเจ้าของภาษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และหากคุณไม่สามารถพบเห็นเจ้าของภาษาได้ในพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่ การดูหนังหรือรายการทีวีที่พูดในภาษานั้นๆ ก็เป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย
“บางทีมันอาจฟังดูแปลก แต่คุณควรมองและสังเกตว่าเจ้าของภาษาเขาออกเสียงคำแต่ละคำอย่างไรบ้าง จากนั้น พยายามเลียนแบบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เชื่อผมเถอะ มันจะยากในช่วงแรกๆ แต่คุณจะทำได้ในที่สุด มันเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ คุณแค่ต้องฝนเยอะๆ เท่านั้นเอง” – แมทธิว ยูลเดน
10.ฝึกฝนอย่างหนักและต่อเนื่อง
การแค่สัญญากับตัวเองว่าจะทุ่มเทกับการเรียนภาษาต่างประเทศนั้นไม่เพียงพอ คุณจำเป็นต้องฝึกฝนจริงๆ อย่างที่พูดด้วย แมทธิวแนะนำว่าควรฝึกฝนอย่างหนัก เขาบอกว่าไม่ว่าคุณจะใช้เครื่องมืออะไรช่วยในการเรียนรู้ภาษาใหม่ก็ตาม การฝึกฝนมันทุกๆ วันถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ
“ผมชอบที่จะซึมซับความรู้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาใหม่ เวลาผมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผมจะฝึกฝนด้วยการใช้มันตลอดวัน เมื่อเวลาผ่านไปประมาณสัปดาห์หนึ่งแล้ว ผมพยายามจะใช้ภาษานั้นในการคิด เขียน และพูดกับตัวเอง สำหรับผมแล้วมันคือการนำความรู้ที่ได้มาฝึกฝนใช้จริง การเขียนอีเมล์ การพูดกับตัวเอง ฟังเพลง ฟังวิทยุ ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาษาใหม่ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสิ้น” – แมทธิว ยูลเดน
แหล่งข้อมูล: https://www.babbel.com