A-Level และ IB เป็นระบบการเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ทั้งคู่ วันนี้จะมาพูดให้ฟังคร่าวๆค่ะว่า 2 ระบบนี้เหมือนหรือต่างกันยังไง
IB เรียน “ทั้งลึกและกว้าง” คือเรียนลึกใน 3 วิชาและเรียนกว้าง ในอีก 3 วิชา และยังต้องทำกิจกรรมอื่นๆอีก 3 กิจกรรม สรุปแล้วมีงานอยู่ 9 อย่างที่ต้องทำ
A-Level เรียน “ลึกอย่างเดียว” คือเรียนลึกใน 3 วิชาเท่านั้น โดยไม่สนใจวิชาอื่นๆเลย สรุปแล้วมีงานอยู่ 3 อย่างที่ต้องทำ
คำว่า “เรียนลึก” หมายถึง การเรียนเนื้อหาในเชิงลึก โดยทั้ง A-Level และ IB จะเรียนเนื้อหาที่เกินระดับโรงเรียนคาบเกี่ยวไปถึงเนื้อหาที่นักศึกษาปีที่ 1 ในระดับมหาวิทยาลัยเรียนกันเลย คำว่า “เรียนกว้าง” หมายถึง การเรียนเนื้อหาแบบให้ทราบถึงหลักการโดยรวม แต่ไม่ต้องรู้รายละเอียดมาก เช่น หากเรียน Economics จะเรียนให้รู้ว่า Demand คืออะไร ถ้ามีการเพิ่มราคาจะเกิดอะไรกับ Demand แต่ไม่ต้องรู้ถึงขนาดต้องคำนวณสูตรว่าถ้าราคาเพิ่ม 3% แล้ว Demand จะเปลี่ยนไปกี่ %
A-Level เป็นหลักสูตรของอังกฤษ โดยถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ในเชิงลึกเป็นหลัก โดยการเรียนในระดับสูงสุดของโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษคือการเรียน A-Level ซึ่งผู้เรียนจะต้องเลือกวิชาที่ตนเองถนัดและอยากไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมา 3 วิชา โดยไม่ต้องเรียนวิชาอื่นนอกเหนือจากนี้อีกเลย ข้อดีของแนวคิดนี้คือทำให้ผู้เรียนไม่เหนื่อยและเครียดมากแบบ IB Diploma ที่ต้องเรียนเยอะกว่ากันมาก แต่ข้อเสียคือผู้เรียนจะไม่มีความรู้ในวิชาอื่นๆนอกจากนี้เท่าใดนัก แม้อาจมีการโต้เถียงว่า ก่อนจะเรียน A-Level นั้น ผู้เรียนต้องผ่านการเรียนที่เรียกว่า IGCSE มาก่อน ซึ่งการเรียน IGCSE จะเรียนกัน 8-10 วิชา ดังนั้นผู้เรียนจะมีความรู้ที่ “กว้าง” อยู่แล้ว และค่อยมาพิจารณาว่าวิชาไหนที่ตนเองชอบมากที่สุด 3 อันดับ จึงค่อยมาเลือกเรียนให้ “ลึก” ในระดับ A-Level ต่อไป แต่หากเทียบแค่ A-Level กับ IB Diploma จะเห็นได้ว่า IB Diploma เรียนหนักกว่ากันมาก
หลักสูตร IB ออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมในฐานะพลเมืองของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นผู้เรียน ควรมีความรู้รอบด้านในเรื่องต่างๆทั้งภาษา สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีความรู้เจาะลึกเฉพาะด้านตามความสนใจเพื่อนำไปประกอบอาชีพ การเรียน IB ในระดับ High School (IB Diploma) จึงถูกออกแบบให้มีวิชาอยู่ 6 กลุ่ม โดยจะต้องมีอย่างน้อยสามวิชาที่สอบแบบ Higher Level (HL) โดยที่เหลือเป็น Standard Level (SL) นอกจากนี้นักเรียนจะต้องผ่านเงื่อนไขอีก 3 ข้อคือ
(1) Theory of Knowledge (ToK) เรียนไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมงและเขียน Essay 1,200-1,600 คำเพื่อนำความรู้ที่เราสนใจศึกษานำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการใหม่ๆ
(2) Extended Essay (EE) คือการทำ Research ที่มีจำนวนคำไม่เกินกว่า 4,000 คำ
(3) Creativity, Action, Service (CAS) กิจกรรมนอกโรงเรียนที่นักเรียนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมงในแต่ละกิจกรรม
- Creativity หมายถึงกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ
- Action หมายถึงกิจกรรมการเล่นกีฬา
- Service หมายถึงการมีส่วนร่วมและทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ในการตัดสินใจว่าควรเลือกเรียนหลักสูตรไหนดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะการยอมรับของมหาวิทยาลัย หากตั้งใจที่จะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทั้งสองหลักสูตรได้รับการยอมรับในระดับที่ไม่แตกต่างกัน นักเรียนหลายคนจึงนิยมเลือกเรียน A-Level มากกว่าเพราะเรียนไม่หนักมากเท่า IB Diploma (การเรียน A-Level นั้นใช้เวลา 2 ปีเหมือน IB Diploma แต่การเรียน A-Level ในปีแรกจะเรียกว่า AS Level หรือมีค่าครึ่งหนึ่งของ A-Level ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยอมรับผล AS Level ด้วย เรียกได้ว่า เรียน A-Level แค่ปีเดียวก็มีสิทธิสมัครเรียนมหาวิทยาลัยได้ แต่หากเรียน IB Diploma จะต้องเรียนจนจบ 2 ปีเท่านั้น)
ส่วนมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกานั้นมักจะให้คุณค่ากับคนที่เรียน IB Diploma มากกว่า A-Level “เล็กน้อย”เพราะระบบการเรียนของอเมริกานั้นเน้นการเรียนแบบรู้กว้าง ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน เพราะแนวคิดของการศึกษาอเมริกาคือหากผู้เรียนมีความรู้ในหลายๆด้าน มีความสามารถในเรื่องต่างๆ เช่น ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการวิเคราะห์วิจัย การทำกิจกรรมต่างๆ คนนั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทั้งในแง่การเรียนและการทำงานมากกว่า (ไม่ได้เน้นความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมากที่สุด แต่ดูความสามารถโดยรอบด้วย) ซึ่งจะเห็นได้ว่า IB Diploma ได้มอบสิ่งเหล่านี้ต่อผู้เรียนผ่านการเรียนในหลายสาขาวิชา, กิจกรรม ToK, กิจกรรม EE, กิจกรรม CAS ดังนั้นหลักสูตร IB Diploma จึงเหมาะสาหรับผู้ที่คิดจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา โดยทาง IBO ได้มีหลักฐานสรุปว่าคนที่เรียน IB Diploma จะมีโอกาสได้รับเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League มากกว่า คนที่ไม่ได้เรียน (แต่ไม่พบรายงานว่าหากสมัครมหาวิทยาลัยอื่นๆนอกกลุ่ม Ivy League จะได้ผลตอบรับต่างกันหรือไม่)
ส่วนมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษนั้นให้การยอมรับทั้งสองหลักสูตร แต่แนวคิดด้านการศึกษาของประเทศอังกฤษจะให้คุณค่ากับความรู้ในด้านที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในด้านนั้นๆเท่านั้น เช่น หากต้องการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจะให้คุณค่ากับคนที่ชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาคณิตศาสตร์ แต่แทบจะไม่สนใจหากคนคนนั้นก็ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันวาดภาพระดับประเทศ ดังนั้นหลักสูตร IB Diploma จึงไม่ค่อยได้รับการยอมรับเหนือกว่า A-Level หากผู้เรียนคิดที่จะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ เพราะ A-Level ก็ตอบโจทย์การ “รู้ลึก” พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องอื่นๆเหมือนกับหลักสูตร IB Diploma