ประเทศไทยเพิ่งต้อนรับการกลับมาของกลุ่มนักเรียนเก่งที่ได้คว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกชีววิทยาและคอมพิวเตอร์ในปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายได้ร่วมยินดีกับความสำเร็จและผลงานอันน่าภูมิใจของตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก

แต่หลังจากการเฉลิมฉลองสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ พวกเขามีการตัดสินใจครั้งสำคัญรอพวกเขาอยู่ ไม่เร็วก็ช้า พวกเขาจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้เวลาอีก 10 กว่าปีข้างหน้าของพวกเขาอย่างไร

ช่วงเวลานี้เมื่อ 11 ปีก่อน อำนวย พลสุขเจริญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพิ่งชนะเหรียญเงินโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ที่ประเทศสิงคโปร์ และเขายังจำได้ถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้น

“เวลาที่เราเพิ่งทำอะไรซักอย่าง ณ ตอนนั้น มันก็จะมีความรู้สึกที่เข้มข้นมาก” อำนวยอธิบายปนหัวเราะถึงความรู้สึกตอนที่ได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ

“ตอนนั้นก็รู็สึกดีใจมาก แล้วก็รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในเรื่อง ๆ หนึ่งในชีวิต แต่ว่าพอจบกลับมา ในชีวิตเรามันก็มีเรื่องมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้น ตรงนั้นมันก็เป็นความสำเร็จอย่างนึง แต่มันก็ไม่ใช่ความสำเร็จอย่างเดียวที่เกิดขึ้น”

ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศนั้น นักเรียนส่วนมากจะต้องเริ่มจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้าค่ายของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (สอวน.) ตามภูมิภาคต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงจะสอบคัดตัวเข้าสู่ค่ายที่ 2 ของสอวน. เพื่อที่จะได้สิทธิ์ไปสอบแข่งขันในระดับประเทศ

จากนั้นผู้ผ่านเข้ารอบจากการแข่งขั้นนี้จึงจะได้เดินเข้าสู่ค่ายของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) ซึ่งจะมีการอบรมอีกหลายสัปดาห์ก่อนจะทำการสอบวัดผลอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ตัวแทนประเทศไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งการแข่งขันและเข้าค่ายทั้งหมดนับเป็นช่วงเวลากว่า 2 ปี

รณชัย เจริญศรี หนึ่งในนักเรียนไม่กี่คนที่ได้รับเหรียญถึง 2 ปีติดต่อกันในสาขาฟิสิกส์ คือเหรียญเงินปี 2005 และเหรียญทองในปี 2006 อาจจะเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์นี้มามากที่สุดคนหนึ่ง

“ผมจำได้ว่าเป็นช่วงที่สนุกมากที่สุดช่วงหนึ่งเลย เรียนฟิสิกส์ก็สนุกดี คิดอะไรออกมันก็สนุกดี เด็กผู้ชายเยอะในค่ายฟิสิกส์ก็เตะบอลเล่นบาสกัน พอกลับมาเข้าเรียนอาจารย์ก็จะบ่นว่าเหม็นเหงื่อ” รณชัยพูดถึงประสบการณ์ในค่ายสอวน.

ในเวลานั้นทุนการศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เขาสนใจในโครงการวิชาการเหล่านี้ เขาจำได้ว่าหลังจากการสอบเข้าค่ายครั้งแรกเขาไม่มั่นใจกับผลการสอบเลย

“มีรุ่นพี่โผล่มาที่ห้องแล้วถามว่า ‘รณชัยอยู่ไหน รู้ตัวรึเปล่าว่าเราผ่านสอวน.’ ผมได้ 11 คะแนนจาก 24 แต่ว่าคัทออฟที่ 10 ก็เลยถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอย่างนึงเลยจริง ๆ”

รณชัยบอกว่าเขาโชคดีมากที่เข้ารอบตั้งแต่ชั้นม.3 ตอนนั้น เพราะมันทำให้เขาไม่กดดันและทำข้อสอบได้ดี ซึ่งสุดท้ายนำมาซึ่งเหรียญโอลิมปิกวิชาการทั้งสองเหรียญ

โอลิมปิกวิชาการไม่ได้จบลงที่เหรียญ

โอลิมปิกวิชาการเป็นทั้งปลายทางและจุดเริ่มต้นสำหรับทั้งอำนวยและรณชัย เช่นเดียวกับตัวแทนประเทศอีกหลายคน ซึ่งได้ตัดสินใจรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนต่อถึงปริญญาเอก

การรับทุนนั้นหมายถึงการตกลงที่จะศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนจะกลับมาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐในจำนวนปีเท่ากัน ซึ่งงานส่วนมากคือสอนหนังสือหรือทำวิจัย และแทบจะหมายถึงการบอกลาอาชีพในฝันของเด็กสายวิทย์หลายคนอย่างหมอหรือวิศวกร

ถึงแม้เด็กโอลิมปิกเหล่านี้จะผ่านการฝึกทำข้อสอบมามากมาย แต่ในวัยมัธยมปลายพวกเขายังนับว่าเด็กมากที่จะต้องตัดสินใจอนาคตตัวเอง ซึ่งอำนวยมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้น “สำคัญมาก”

“มันเหมือนกับว่าเราก็ยังไม่รู้ตัวเองด้วย จุดอ่อนอย่างนึงของทุนนี้คือนักเรียนจะต้องตัดสินใจรับทุนตั้งแต่ตอน ม.6 และเหมือนกับว่าชีวิตอีก 11 ปีเนี่ยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจครั้งนั้นครั้งเดียว” อำนวยกล่าว

อำนวยตัดสินใจรับทุนและเลือกเรียนต่อในสหรัฐฯ และได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งต่อมาเขาพบว่าสนใจฟิสิกส์ที่ใช้การทดลองผ่านคอมพิวเตอร์ จนได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดในสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งรวมถึงการทำวิจัยของเขาในเรื่องการใช้แผงพลังงานโซลาร์เซลล์

ประสบการณ์ทั้งหมดบอกเขาว่าวิทยาศาสตร์โอลิมปิกกับการทำวิจัยวิทยาศาสตร์นั้นต่างกันมาก และนั่นเป็นสิ่งที่นักเรียนทุนจากประเทศไทยหลายคนค้นพบในขั้นปริญญาเอก

“การแข่งโอลิมปิกเนี่ยมันเป็นการหาคำตอบที่ค่อนข้างตายตัว คือลึก ๆ แล้วเรามีความคาดหวังว่าเรารู้คำตอบ และเราสามารถหาคำตอบนั้นเจอและตรวจได้ แต่การวิจัยปริญญาเอกนั้นเป็นคนละเรื่องเลย เป็นการควานหาที่แม้แต่ปัญหาที่จะถามก็ยังไม่มีใครถามให้ เราก็ต้องไปหาว่าคำถามไหนเป็นคำถามที่น่าสนใจ แล้วคำถามนั้นก็ต้องไปหาคำตอบที่ไม่มีใครเคยหาเจอมาก่อน” อำนวยกล่าวเสริม

ปริญญาเอกหลังโอลิมปิก

หลังจากเด็กโอลิมปิกตัดสินใจรับทุนเรียนต่อในสหรัฐฯ พวกเขาจะต้องเริ่มจากการไปเรียนภาษาทั้งกลุ่มในช่วงฤดูร้อน ก่อนที่จะถูกแยกไปโรงเรียนประจำเพื่อเรียนซ้ำม.6 อีก 1 ปีเพื่อฝึกภาษา

สำหรับรณชัยช่วง 1 ปีนั้นเป็นช่วงที่เหงามาก เพราะนอกจากจะถูกแยกจากเพื่อนไปคนละโรงเรียนแล้ว ภาษาก็ยังเป็นอุปสรรคในการปรับตัวและอาหารก็ไม่อร่อย แต่เขาก็สามารถปรับตัวได้จนสามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดในระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์

หลังจากนั้นรณชัยได้ตัดสินใจเปลี่ยนสาขามาทางคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยเอ็มไอที ซึ่งรณชัยบอกว่าช่วงปริญญาเอกต่างหากที่เขารู้สึกว่าต้องค้นหาตัวเองมากที่สุด

“หลายคนเวลาเห็นคำว่าด็อกเตอร์แล้วก็รู็สึกว่ามันเจ๋งมันเท่ แต่ไม่ได้รู้จริง ๆ ว่าการได้ด็อกเตอร์มานี่มันต้องผ่านอะไรบ้าง ตอนเรียนปริญญาเอกเนี่ย ถ้าเราไม่ได้มีความสนใจจริงๆ แล้วเจอกับปัญหาที่ยาก มันทำให้ท้อแท้ได้ง่าย” รณชัยกล่าว

รณชัยเริ่มทำวิจัยปริญญาเอกในหัวข้อการพัฒนาการอ่านคลื่นหัวใจจากเลือดที่สูบฉีดบนใบหน้าผ่านการประมวลผลภาพจากกล้องวิดีโอ ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนหัวข้อไปเป็นการประมวลผลการแต่งภาพหลังจากได้ฝึกงานที่บริษัท Adobe ซึ่งไม่ใช่หัวข้อที่เขาชอบนักเมื่อมองย้อนกลับไป

“ช่วงที่ทำโปรเจคต์นี้เป็นช่วงที่ผมทรมานมากที่สุด ผมเลยต้องค้นหาตัวเองอีกที ผมก็มารู้ตัวว่าผมอยากเป็นหมอ แต่เรามาทุนมันไม่ค่อยทันแล้ว คิดคำนวน trade off อะไรหลายอย่าง คือผมเป็นคนชอบดูแลคนและคิดว่าถ้าผมเป็นหมอ อยากที่จะได้ดูคนไข้ ถ้าผมทำแบบนั้นก็เหมือนโยนความรู้ทั้งหมดนี้ทิ้งไปเลย” รณชัยกล่าว

ท้ายที่สุดรณชัยเปลี่ยนโครงการวิจัยของเขามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านการแพทย์อีกครั้ง ที่จะช่วยแพทย์ประมวลสภาพคนไข้โดยอัตโนมัติเพื่อช่วยแพทย์ทำงานได้ดีและแม่นยำขึ้น

โอลิมปิกกับเด็กไทยในห้องเรียน

นักเรียนไทยสร้างผลงานในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้ดีขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ตัวแทนประเทศไทยคว้าเหรียญทองสาขาฟิสิกส์เฉลี่ยปีละ 3 เหรียญ มากกว่าช่วงปี 2000-2009 เกือบ 3 เท่า ในการแข่งขันโอลิมปิกคณิตศาสตร์ปีล่าสุด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 111 ประเทศ จากเดิมที่เคยได้อันดับที่ 41 จาก 50 ประเทศเมื่อปี 1989

แต่ขณะเดียวกันนั้น สมรรถภาพของนักเรียนในประเทศไทยไม่ได้ขยับไปในทิศทางเดียวกัน ตามผลสำรวจล่าสุดในปี 2015 ของ PISA ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 54 จาก 70 ประเทศทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ถึงแม้จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งในการแข่งขันและการขยายศูนย์สอวน.ให้เข้าถึงในหลายภูมิภาค ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจของการศึกษาในประเทศซึ่งสวนทางกับผลงานในระดับนานาชาติ ทำให้บางครั้งโครงการโอลิมปิกวิชาการเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการส่งเสริมเฉพาะ “เด็กเก่ง” เท่านั้น

อำนวยมองว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ช่องว่างทางความรู้ของนักเรียนไทยต่างกัน รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการจัดห้องเรียนตามผลการเรียน เขาเห็นด้วยว่าโครงการอย่างโอลิมปิกวิชาการเป็นการช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่เรียนรู้ได้เร็วกว่า

“การที่มีโครงการแบบนี้เนี่ย มันเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิด แค่นั้นก็เป็นโครงการที่ดีมากแล้ว ถ้านึกภาพดูว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมในโรงเรียน การศึกษาโดยทั่วไป มันไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนที่อยากรู้ได้รู้” อำนวยกล่าว

อำนวยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแปลหนังสือชื่อ “โรงเรียนหลังใหญ่ โลกใบเดียวกัน” เชื่อว่าการแบ่งห้องคิง ห้องควีน เป็นการฆ่าความอยากเรียนรู้ของนักเรียน และเทคโนโลยีควรถูกนำมาช่วยเหลือการเรียนการสอน เพื่อที่ครูผู้สอนจะสามารถใส่ใจกับนักเรียนแบบรายบุคคลในส่วนที่จำเป็น รวมถึงการให้กำลังใจในการเรียนซึ่งเขาคิดว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก

เขากล่าวว่า “ปัญหาของการสอนในโรงเรียนปกติแบบนี้ คือคนที่เรียนช้าก็เรียนไม่ทัน และถูกบังคับให้เรียนตามคนอื่น ในขณะที่คนที่เรียนรู้เร็วกว่า ก็รู้สึกว่าน่าเบื่อ ช้าเกินไป ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นมอดไปด้วย”

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ปัจจุบันอำนวยทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้บริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Robinhood ซึ่งผลิตแอปพลิเคชันสำหรับซื้อขายหุ้น เขาวางแผนจะกลับมาสอนในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทยตามข้อผูกพันทุนโอลิมปิกภายในสองปีข้างหน้า

ส่วนรณชัย ซึ่งกำลังทำงานวิจัยในระดับปริญญาเอกและฝึกงานในทีม Google Brain ซึ่งใช้การเรียนรู้ของเครื่องมาพัฒนาเทคโนโลยเกี่ยวกับสุขภาพ ก็มองว่าทุนโอลิมปิกนับเป็นประสบการณ์ที่มีผลต่อชีวิตนักเรียนทุนอย่างมาก

“ถ้ามองแบบ objectively มันก็เปลี่ยนชีวิต ทำให้ได้มีโอกาสเรียนมหาลัยระดับโลก เป็นอะไรที่เปลี่ยนชีวิตมาก

ถ้าผมไม่ถูกจำกัดด้วยการต้องใช้ทุน มันมีโอกาสอีกมากมายเลยที่เราจะทำได้ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าการใช้ทุนเป็นเรื่องแย่ เพราะผมก็อยากกลับไทยและทำอะไรให้ประเทศเหมือนกัน ได้เห็นอะไรที่นี่มานานก็อยากจะเอาอะไรดี ๆ กลับไปบ้าง”

เมื่อถึงเวลาที่เขาเดินทางกลับไทย รณชัยคิดว่าอยากจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรซักอย่างที่จะช่วยพัฒนาชีวิตคน แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

“เท่าที่ผมได้ยินมาเขามักจะให้เราไปทำวิจัยมากกว่า [ตัวเลือก]ที่ชัดเจนที่สุดของผมก็คือเป็นอาจารย์ แต่ถ้าถามผมว่าอยากเป็นอาจารย์มหาลัยรึเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน” รณชัยกล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.bbc.com/thai/thailand-40837074