การศึกษาไทย “ยุคดิจิทัล” เปิดมุมมองความรู้ผ่าน Youtube
เรื่องราวของ “ซัลแมน ข่าน” (Salman Khan) ผู้ก่อตั้ง Khan Academy มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงเสมอ ในแง่ของการเรียนที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับรูปแบบการเรียนหนังสือแบบเดิม ๆ ในห้องสี่เหลี่ยม โดยคนจากทั่วโลกสามารถศึกษาความรู้วิชาต่าง ๆ ผ่านทางคลิปวิดีโอที่เขาโพสต์ผ่านทางยูทูบ
ปัจจุบันมีคนติดตามช่อง Khan Aca demyทางยูทูบกว่า 2 ล้านคน วิดีโอของเขาถูกรับชมมากกว่า 500 ล้านครั้ง เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ายูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ทลายกำแพงการเรียนรู้ให้กับคนทั่วโลก
“จอช เองเกล” ผู้จัดการโปรแกรมเพื่อการศึกษาของ Youtube ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า การให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วเป็นพันธกิจหลักของกูเกิลและยูทูบ ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องการศึกษา กูเกิลเชื่อในพลังของวิดีโอที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ หรือเป็นดิจิทัลเพื่อการศึกษาโดยอยากให้เป็นห้องเรียนระดับโลกที่ทุกคนเข้าถึงได้เพียงแค่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ตนพบว่าครูหลายคนกำลังค้นหารูปแบบหรือแนวทางในการนำวิดีโอไปใช้ทั้งในและนอกห้องเรียนยกตัวอย่างครูสามารถใช้เพลย์ลิสต์รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่อยากเรียนรู้ และอยากสอนนักเรียน เพื่อจะได้เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว ขณะเดียวกันครูจะใช้ยูทูบเป็นดาวเด่นในการเปิดการเรียน ดึงดูดความสนใจของเด็กก่อนเข้าสู่เนื้อหา เมื่อนำวิดีโอมาเปิดก่อนก็จะเป็นการให้ความบันเทิง และดึงนักเรียนเข้ามาสู่การเรียนได้เต็มที่
“ยูทูบช่วยให้ครูเพิ่มพูนประสบการณ์ในห้องเรียน เป็นเหมือนห้องสมุดที่มีเนื้อหาและเรื่องราวจากทั่วโลก รวมถึงทำให้ครูสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของห้องเรียนได้ตามความต้องการ เช่น ครูอาจมอบการบ้านให้นักเรียนไปศึกษาความรู้ผ่านวิดีโอกับผู้ปกครอง แล้วนำเวลาเรียนปกติมาใช้จัดการทดลองหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการใช้จินตนาการของเด็ก ยิ่งกว่านั้นยังเป็นเครื่องมือของผู้เรียนในทุกวัย เพราะสามารถค้นหาเนื้อหาได้ตามที่ต้องการ และมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีนักสร้างสรรค์เนื้อหาและช่องทางเพื่อการศึกษาบนยูทูบที่โดดเด่นอยู่ไม่น้อย อย่างออมสกูล (Ormschool) ที่สร้างสื่อการสอนในรูปแบบวิดีโอคุณภาพสูงจากอาจารย์ที่ได้รับการยอมรับอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และแบ่งปันให้กับนักเรียนที่สนใจได้หลุดพ้นจากความไม่รู้ เป้าหมายของออมสกูลคือ สร้างสรรค์วิดีโอเพื่อการศึกษาให้ครบ 1 ล้านคลิป จากตอนนี้ที่มีอยู่กว่า 10,000 คลิป
นอกจากนี้ยังมีช่อง Choc Chip โดย “วรินทร์เนตร เติมศิริกมล” ผู้ร่วมก่อตั้งช่อง Choc Chip บอกว่า ทางช่องได้สร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก ๆ ได้คิดต่าง เพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการเเละเติบโตไปพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ โดย Choc Chip จะรวบรวมเนื้อหาที่กระตุ้นการเรียนรู้ไปพร้อมกับสร้างความสนุกสนานให้แก่เด็ก ๆ โดยครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ศิลปะ และประสบการณ์ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ
“วิดีโอต่าง ๆ จะถูกจัดวางอย่างเหมาะสมโดยแบ่งตามวัยของเด็ก ๆ เพื่อความสะดวกในการรับชม ตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนไปจนถึงกลุ่มเด็กก่อนวัยรุ่น”
สำหรับตัวอย่างของครูไทยที่ได้นำยูทูบไปใช้ในการเรียนการสอน”วีรชัย มาตรหลุบเลา” ครูชำนาญการพิเศษ วิชาดนตรี โรงเรียนบ้านหนองย่างงัว อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า เดิมตนอัดวิดีโอเกี่ยวกับความรู้วิชาเป่าแคนใส่ซีดีแล้วแจกจ่ายให้กับคนที่สนใจ ซึ่งมีข้อจำกัดคือไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา หลังจากนั้นได้นำยูทูบเข้ามาในการสอนวิชาเป่าแคนที่โรงเรียน โดยช่วงแรกเป็นการนำวิดีโอที่อยู่ในยูทูบมาประกอบการสอนนักเรียน
“เราตระหนักว่าวัฒนธรรมนี้ใกล้สูญหาย จึงอัดวิดีโอการสอนเป่าแคนขึ้นบนยูทูบ และสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ มีทั้งการสอนระดับขั้นต้นถึงขั้นสูง โดยให้นักเรียนส่งผลงานการเป่าแคนผ่านทางยูทูบ ทำให้เพื่อน ๆ และผู้ปกครองได้ดูผลงานเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันจากการตอบกลับของผู้ที่เข้ามาชมบล็อกก็พบว่ามีชาวต่างชาติด้วย ก็เหมือนกับว่าเราได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยได้อีกทางหนึ่ง”
ขณะที่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ก่อนหน้านี้ได้นำ Google Apps for Education มาใช้สนับสนุนการเรียนการสอน โดย “รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” กล่าวว่า จากจุดนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเห็นโอกาสที่ดีในการสอนรูปแบบวิดีโอผ่านยูทูบ เพราะเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน ม.ขอนแก่น ได้เผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยไปสู่ประชาชนผ่านช่องยูทูบของมหาวิทยาลัย หรือ KKU Channel โดยมีเกือบ 1,000 วิดีโอ และมียอดเข้าชมกว่า 1.3 ล้านครั้ง
“เรายังใช้ยูทูบเสริมสร้างความสามารถของนักศึกษา เช่น หลักสูตรด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เรามอบหมายให้นักศึกษาสร้างโครงงาน และนำเสนอผลงานผ่านทางยูทูบแทนการออกมาพูดหน้าชั้นเรียน เพื่อให้ทุกคนจากทั่วโลกได้ชมความคิดสร้างสรรค์ และให้ฟีดแบ็กที่เป็นประโยชน์ต่อผลงานของนักศึกษาได้”
ขอบคุณข้อมูลจาก http://campus.sanook.com/1376301/