ฝันของคุณยายวัย 91 ปีจาก จ.พะเยา กลายเป็นจริงแล้ว เมื่อเธอคว้าใบปริญญาตรีมาได้อย่างสำเร็จและจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันพรุ่งนี้ ( 9 ส.ค.) หลังจากใช้เวลาร่ำเรียนด้วยตนเองมานานกว่า 10 ปี
ความเสื่อมถอยของร่างกาย และการสูญเสีย ไม่สามารถขัดขวางความความฝัน และความมุ่งมั่นของหญิงชราในวัย 91 ปี ผู้ยึดคติ “ไม่มีคำว่าสายถ้าเราจะเรียน… ใจเราจะต้องตื่นอยู่ตลอดเวลาที่จะเรียน” จนคว้าศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มาได้ หลังใช้เวลาเรียนกว่า 10 ปี
พุธที่ 9 ส.ค.เป็นอีกหนึ่งวันแห่งความภาคภูมิใจของหญิงชราวัย 91 ปี “กิมหลั่น จินากุล” ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ร่วมกับบัณฑิตนับพันจาก มสธ.
กิมหลั่น เป็นชาวลำปางแต่กำเนิด แล้วย้ายมาตั้งรกรากที่จ.พะเยากับครอบครัว ใช้ชีวิตสมถะตามประสาหญิงชราทั่วไป ตื่นแต่เช้าเพื่อใส่บาตร ไปวัดทำบุญ พบปะสังสรรค์กับคนในชุมชน
เธอใช้เวลาว่างระหว่างวันอ่านหนังสือเรียนทุกวัน จนคว้าปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ แม้มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายตามวัย
“ไม่มีคำว่าสายถ้าเราจะเรียนนะคะ ใจเราจะต้องตื่นอยู่ตลอดเวลาที่จะเรียน ไม่มีคำว่าสาย” คุณยายกิมหลั่นกล่าวย้ำกับบีบีซีไทย ถึงการให้ความสำคัญต่อการศึกษาที่มีความหมายต่อการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
“โลกนี้จะเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา มีเหตุการณ์ใหม่ๆ ให้คิดให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา มีวิชาการใหม่ๆ และโลกมันจะได้เจริญ ถ้าหากไม่มีอะไรใหม่ โลกก็ไม่เจริญ” นี่คือคติการมองโลกของผู้อาวุโสผู้ชอบเรียนหนังสือ และขยัน มุมานะ เป็นนิสัย
เรียนดี แต่โชคชะตาไม่อำนวย
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ด.ญ. กิมหลั่น อาศัยอยู่กับครอบครัวชาวจีนในจ.ลำปาง เป็นนักเรียน “ลำปางกัลยาณี” โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด โดยมีผลการเรียนที่เรียกได้ว่า “ดีเลยทีเดียว” ในขณะนั้น ทุกคนรวมทั้งตัวเธอหวังว่าจะได้เรียนต่อ แต่ว่าโชคชะตากลับพลิกผัน เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงทำให้ครอบครัวของเธอต้องย้ายเข้ามากรุงเทพฯ แล้วต่อมาก็ได้แต่งงานมีลูก
“ยายนึกอยู่ในใจมาโดยตลอด ถ้ามีลูก ลูกต้องได้เรียนตามปรารถนา ก็คงจะดีกว่าเรา จากความมุ่งมั่นและการตั้งปณิธานอันแรงกล้านี้ ทำให้เรื่องการให้การศึกษาของบรรดาลูกๆ บัดนี้ก็สมใจนึกแล้ว การที่ลูกเรียนต่อจนจบ ทำให้เรามีความสุข” บัณฑิตอาวุโสรำลึกความหลังด้วยความภูมิใจ
กิมหลั่นมีลูกทั้งหมด 5 คน ที่ล้วนจบระดับปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาของชั้นนำทุกคน มี 4 คนที่จบปริญญาโท และ 1 คนจบการศึกษาปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา และมีงานทำทุกคน ความที่เป็นครอบครัวแห่งการศึกษาสืบทอดลงมาถึงรุ่นหลานที่ทุกคนก็ได้รับการสนับสนุนด้านศึกษาไม่แตกต่างกัน
ทุกความสำเร็จย่อมมีขวากหนาม
ภายหลังสนับสนุนให้ลูกหลานประสบความสำเร็จทางการศึกษาไปแล้ว ถึงเวลาที่กิมหลั่นจะทำฝันของตัวเองให้เป็นจริง เมื่ออายุ 72 ปี เธอตัดสินใจสมัครเรียนกับ มสธ. ครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนของลูกสาวที่เป็นอาจารย์พยาบาล ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ และกำลังเรียน มสธ. ขณะนั้น แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
“แรกทีเดียวก็มีลูกสาว… เขาก็เรียน มสธ. ยายเห็นยายก็ว่า เออ..แม่ก็อยากเรียนด้วย เขาก็บอกว่าได้สิแม่ คนแก่คนสาว ต้อนรับทุกเพศทุกวัย เขาก็จัดแจงแนะนำต่างๆ คล้ายๆ เราก็เรียนเขาก็เรียน เขาเรียนก็ล่วงหน้าไปก่อน ที่นี่เขาไม่สบายมาก แม่ยังเรียนไม่จบเลย เขาก็เสียชีวิต การเป็นการตายเราก็ห้ามไม่ได้ เลยทิ้งไว้ให้แม่คนเดียว”
ความสูญเสีย ทำให้ความตั้งใจสะดุด ยุติการเรียนไปหลายปีก่อนกลับมาสานต่อความฝันด้วยการลงทะเบียนครั้งที่ 2 ในปี 2554 ในวัย 85 ปี ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว โดยได้เลือกเรียนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้รู้จักการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“พอหายโศกเศร้าไปบ้างแล้ว เราก็คิดว่า เรามาเรียนต่อให้จบ วิญญาณของลูกก็คงจะดีใจว่า เขาเรียนยังไม่จบก็ดี”
เทคนิคช่วยจำ
อะไรคือเทคนิคในการเรียนให้ประสบความสำเร็จ คุณยายกิมหลั่น บอกว่า ความตั้งใจ มุ่งมั่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เธอเองก็มีเทคนิคที่ใช้เป็นการเฉพาะตัวเช่นกัน
“เมื่อเราตั้งใจอ่าน เอาหนังสือขึ้น เมื่อเปิดแล้วเราคิดว่าจะอ่านบทหนึ่ง เราต้องอ่านบทหนึ่งให้ได้ ที่ไหนสำคัญเราก็ขีดไว้ เรามาดูอีกครั้งหนึ่งก็จะง่ายขึ้นทำให้เราไม่เสียเวลา เราจะได้เข้าใจที่เราอ่านมา ถ้าหากเราไม่เข้าใจเวลาเขามีสอนเสริม เราก็ไปสมัคร ไม่เข้าใจ ไม่รู้ ก็ถามเขา ท่านอาจารย์ก็จะกรุณา” กิมหลั่นกล่าว และเสริมว่า ขยันมากอ่านได้มาก ขยันน้อยอ่านได้น้อย แต่การขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ ก็จะช่วยให้การทบทวนทำได้ง่าย
“เมื่อเราสอบได้ เราก็มีกำลังใจ แต่บางทีก็สอบตกนะคะ เมื่อสอบไม่ได้ทาง มสธ. เขาให้สอบซ่อม ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนสำเร็จ” ยายของหลานๆกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
เมื่อถามต่อว่า หลังจากจบการศึกษาได้ปริญญามาแล้วจะทำอะไรต่อ คุณยายยิ้มปนเสียงหัวเราะแล้วบอกว่า “จะไปสมัครงาน ก็คงไม่มีใครให้ทำแล้ว ก็คงดูแลลูกหลานนะ”
ที่มา-มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.bbc.com/thai/features-40854357